นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรในหลายพื้นที่มีการปลูกข้าว นาปรัง ประกอบกับสภาพอากาศมีความชื้นและเย็น ซึ่งเหมาะกับการระบาดของแมลงบั่ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดเลย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเฝ้าระวัง “แมลงบั่ว” เข้าทำลายนาข้าว และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดให้กับเกษตรกร รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และวิธีการในการป้องกันกำจัดแมลงบั่วอย่างสม่ำเสมอแล้ว
สำหรับการระบาดของแมลงบั่ว มักพบระบาดมากในระยะข้าวแตกกอ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะกล้าจนถึงแตกกอ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรเร่งป้องกันการวางไข่และกำจัดตัวหนอนของแมลงบั่ว ซึ่งจะคลานลงไปที่ซอกของใบยอดและกาบใบข้าวและเข้าทำลายยอดที่กำลังเจริญ สามารถสังเกตได้จากหลอดลักษณะคล้ายหลอดหอมซึ่งจะปรากฎภายใน 1 สัปดาห์หลังจากแมลงบั่ววางไข่ หากสำรวจพบควรรีบกำจัด ซึ่งเมื่อตัวหนอนเข้าไปทำลายจุดเจริญของข้าวแล้วจะทำให้ต้นข้าวและกอข้าวแสดงอาการแคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม มีสีเขียวเข้ม ยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ และทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก โดยเมื่อข้าวเกิดช่อดอกแล้วจะไม่พบการเข้าทำลาย แมลงบั่วจะอาศัยและเจริญเติบโตอยู่บนพืชอาศัยจำพวกข้าวป่าและหญ้าต่าง ๆ 1 – 2 ชั่วอายุ จนกระทั่งเริ่มมีการปลูกข้าวในฤดูฝน ก็จะออกเป็นตัวเต็มวัยลักษณะคล้ายยุงตัวสีส้มเข้าทำลายแปลงนาข้าวต่อไปได้ เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ และป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่ให้ก่อความเสียหายได้อย่างทันท่วงที
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแนวทางการแก้ไขและป้องกัน เกษตรกรไม่ควรหว่านข้าวหรือปักดำข้าวถี่เกินไป และควรหมั่นกำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไช หญ้าชันอากาศ เพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว หากพบการเข้าทำลายของแมลงบั่วให้ถอนต้นที่พบหลอดของแมลงบั่วออกจากแปลงนาไปทำลาย รวมถึงใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยในช่วงเวลา 19.00 – 21.00 น. มาทำลาย รวมทั้งควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลงนา เช่น แมงมุม และแตนเบียนของแมลงบั่ว ซึ่งจะช่วยควบคุมการระบาดได้
ทั้งนี้ ศัตรูข้าวอย่างแมลงบั่วมักพบมากในสภาพที่มีความชื้นสูง เมฆมากหรือมีฝนตก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นที่เป็นเขาหรือมีแนวเขาล้อมรอบ ทำให้มีความชื้นสูงเหมาะแก่การเจริญเติมโตของแมลงบั่ว เช่น บริเวณ จังหวัดตาก แพร่ ลำปาง น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ เลย อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม และจังหวัดสกลนคร อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจะทำให้เสี่ยงที่แมลงบั่วจะเข้าทำลายแปลงนาในรอบปลูกต่อไปได้ ซึ่งการเพาะปลูกข้าวแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ข้าวนาปี หรือข้าวนาน้ำฝน ที่เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และเก็บเกี่ยวสิ้นสุดไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ และข้าวนาปรัง คือ ข้าวที่ปลูกนอกฤดูการทำนาปกติ ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม นิยมปลูกในพื้นที่ที่มีการชลประทาน เช่น ภาคกลาง เป็นต้น กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เช่น แตงโม ถั่ว และพืชใช้น้ำน้อยอื่นที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เป็นการปลูกพืช หมุนเวียน เพื่อช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงบั่ว และแมลงศัตรูข้าวอื่นๆ ซึ่งช่วยลดปัญหาศัตรูพืชลงได้ และยังเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้งอันจะทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหายด้วย
******************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : นาฏสรวง ข่าว, มกราคม 2566
ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร