กสก.จับมือ7ภาคีลงนามพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศช่วยปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามความร่วมมือประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมภูมิสารสนเทศกับอีก 7 หน่วยงานหลักของประเทศ  ได้ประโยชน์ พร้อมโชว์ 2 ผลงานวิจัยเด่น ระบบวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล  และ ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร นำไปประยุกต์ใช้ช่วยเหลือและฟื้นฟูเกษตรกร ช่วยทำงานได้ไว ทันเหตุการณ์ ทั้งจากภัยแล้งและน้ำท่วม

วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายขจร เราประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทานร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยกรมอุตุนิยมวิทยา, กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้ นางสาวสุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีลงนามบันทุกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ โดยนำผลงานวิจัยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ประกอบด้วย ระบบวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล หรือ GEOPLOTS และ ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร หรือ SSMAP มาจัดนิทรรศการแสดงผลงาน และได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมพิธีลงนามเป็นจำนวนมาก

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในฐานะที่กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการดูแล และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืช
ที่ประสบความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงเห็นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการร่วมลงนามในครั้งนี้ จะนำประโยชน์มาสู่เกษตรกรอย่างมาก ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนา ส่งเสริม
และประยุกต์ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลของหน่วยงาน ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และร่วมมือพัฒนาบุคคลากร  โดยความร่วมมือนี้มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2566- 8 มี.ค. 2571

“ สำหรับขอบเขตความร่วมมือนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ด้านการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง รวมถึงด้านเกษตร ด้านภัยพิบัติและด้านการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งจะดำเนินการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับบุคคลากรในสังกัด อีกทั้งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อวางแผนดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจนี้ ทั้งในระยะสั้น และระยาวต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมถึงผลงานการพัฒนาส่งเสริม และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ
ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานของพื้นที่ให้ปฏิบัติงานได้รวดเร็ว สะดวกสบาย และทันต่อสถานการณ์ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด ได้ศึกษาได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ จนนำมาสู่ความสำเร็จ ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์

“ โดยในส่วนของผลที่ได้นำไปร่วมจัดแสดงในพิธีลงนาม สำหรับ ระบบวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล หรือ GEOPLOTS เป็นระบบวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล ตามการแจ้งขึ้นทะเบียน หรือ ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรโดยเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้วาดผังแปลงเกษตร ในลักษณะของแผนภูมิ และแผนที่ เพื่อตรวจสอบพื้นที่จริงทำให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น  ขณะที่ ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร หรือ SSMAP ในเบื้องต้นนี้ เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อติดตามถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เกษตร เช่น นาข้าว ในลักษณะของแผนภูมิที่ใช้ข้อมูลดาวเทียมมาแสดงให้เห็นว่า พื้นที่นั้นถูกน้ำท่วมมากี่วัน โดยจำแนกด้วยสีต่างๆ  เช่น สีแดง จะเป็นพื้นที่น้ำท่วม 5 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ต้นข้าวตายได้ สีชมพู จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมน้อยกว่า 5 วัน และสีเทา เป็นพื้นที่ไม่พบน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการช่วยเหลือแก้ปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี และช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้รวดเร็ว ได้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง อันนำไปสู่การรายงานผลที่ถูกต้องมายังกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อกำหนดนโยบายให้การช่วยเหลือได้รวดเร็วทันการณ์ ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว