ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายเน้นหนักด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทยบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบซึ่งเป็น 1 ในนโยบายหลัก 15 ด้านในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2566 ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในสวนผลไม้นับเป็นการจัดการน้ำหน่วยย่อยในระดับพื้นที่ ทำให้สวนสามารถผลิตสินค้าไม้ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากฤดูกาลและสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยการใช้น้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศให้ประสบผลสำเร็จต่อไป
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในสวนไม้ผลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตสินค้าไม้ผล เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งหากพืชอยู่ในสภาวะที่ได้รับน้ำเพียงพอ ปลูกในดินหรือวัสดุปลูกที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ และปลูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพืชชนิดนั้น ๆ พืชก็จะสามารถสังเคราะห์แสง สร้างอาหาร คือ น้ำตาลเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและเก็บสะสมในรูปแป้ง สร้างเป็นผลผลิตได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในไม้ผล ผลผลิตจะออกมาในรูปของผลไม้ ให้มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวและบริโภคต่อไป
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในพืชแทบทุกชนิดโดยเฉพาะในไม้ผล ซึ่งการเสียหายจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้เวลาในการปลูกเลี้ยงจนกระทั่งออกผลเป็นเวลาหลายปี
เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในปี 2566 ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเกิดเอลนีโญ่ (แล้ง) ในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจต่อเนื่องยาวนานถึง 4 ปี ดังนั้น การเตรียมการบริหารจัดการน้ำที่ดีและเหมาะสม ซึ่งจะลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลได้นั้น คือ ต้องทราบว่าควรให้น้ำแก่พืชเมื่อใด และให้ปริมาณน้ำเท่าใด ซึ่งในทางปฏิบัติ การให้น้ำจะมีปัจจัย 3 ประการที่ต้องคำนึงถึงคือ ดิน น้ำ และพืช เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญเบื้องต้นที่จะนำมากำหนดความถี่และปริมาณน้ำในการให้น้ำแต่ละครั้งได้แก่
1. ดิน: ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินในเขตรากพืช
2. น้ำ: ปริมาณของน้ำที่ต้องจัดหามาให้แก่พืช
3. พืช: ปริมาณน้ำที่พืชต้องการในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดอายุพืช
ซึ่งขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด ดังนี้จึงขอยกตัวอย่างการให้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของพืชเศรษฐกิจหลักภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ดังนี้
ทุเรียน
• ทุเรียน(ต้นเล็ก) ต้องการน้ำประมาณ 0.6 เท่าของค่าอัตราการระเหยน้ำ (มิลลิเมตรต่อวัน) คูณด้วยพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม ทุเรียนภาคตะวันออกมีอัตราระเหยน้ำวันละ 3.8-5.7 มิลลิเมตร มีพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร เท่ากับเกษตรกรต้องให้น้ำวันละ 2.3-3.4 ลิตรต่อต้น ระบบให้น้ำที่เหมาะสม คือ มินิสปริงเกลอร์
• ระยะออกดอกติดผลเล็ก ให้น้ำระยะก่อนดอกบาน 7-10 วัน จนถึงติดผลในระยะปิ่น ลดการให้น้ำเหลือ 70%
• ระยะผลพัฒนา ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
• ถ้าทุเรียนขาดน้ำในระยะการเจริญเติบโตของผลที่อายุ 8-12 สัปดาห์หลังดอกบาน จะทำให้การพัฒนาของผลไม่สมบูรณ์ ผลจะมีรูปทรงบิดเบี้ยวและมีขนาดเล็ก แม้จะให้น้ำเพิ่มในภายหลังก็ไม่ช่วยให้ทรงและขนาดของผลทุเรียนดีขึ้น
มังคุด
• ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอช่วงการเจริญเติบโตทางใบ และงดให้น้ำช่วงปลายฝน ต้นมังคุดทีมีอายุตายอด 9-12 สัปดาห์ และผ่านสภาพแล้ง 20-30 วัน เมื่อแสดงอาการใบตก ปลายใบบิด ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเป็นร่อง ให้กระตุ้นการออกดอก โดยการให้น้ำอย่างเต็มที่
• สำหรับต้นมังคุดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม ประมาณ 6 เมตร
– การให้น้ำครั้งที่ 1 ให้น้ำในปริมาณ 1,000-1,600 ลิตรต่อต้น จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7-10 วัน เมื่อพบว่า ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำครั้งที่ 2 ในปริมาณครึ่งหนึ่งของครั้งแรก (500-800 ลิตรต่อต้น) หลังจากนั้น 10-14 วัน ตาดอกจะผลิออกมาให้เห็นและควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกเพียง ร้อยละ 35-50 ของยอดทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของตายอดทั้งหมด ควรให้น้ำปริมาณมากถึง 220-280 ลิตรต่อต้น ทุกวัน จนกระทั่งพบว่ายอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอก จึงค่อยให้น้ำตามปกติ คือ 80-110 ลิตรต่อต้น และจะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้มังคุดมีพัฒนาการที่ดี
เงาะ (ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 5 เมตร)
• ต้นเงาะ ควรได้รับน้ำวันละ 2.2-2.7 มิลลิเมตรต่อต้น หรือ 60-75 ลิตรต่อต้น
• เงาะในแต่ละช่วงต้องการน้ำแตกต่างกัน ถ้าเงาะขาดน้ำ 21-30 วันจะแสดงอาการใบห่อ
• หากต้นเงาะใบห่อช่วงออกดอก ควรให้น้ำ 35 มิลลิเมตร (ถังขนาด 1,000 ลิตร) เพียง 1 ครั้งแล้วหยุด
ลองกอง
• ในปีแรกที่ปลูก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
• ต้นลองกอง อายุ 2-3 ปี ควรให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
• เมื่อเห็นตาดอกให้น้ำสม่ำเสมอ
• หยุดให้น้ำ 20 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว
• ลองกองทนสภาพน้ำท่วมขังได้ไม่เกิน 5-7 วัน และทนแล้งได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์
• ช่วงพัฒนาของตาดอกและผลในระยะแรก หากขนาดน้ำในช่วงยืดตาดอก จะทำให้ช่อดอกสั้นกว่าปกติ และผลอ่อนหลุดร่วง
• ช่วงการพัฒนาผลในระยะแรก อายุผล 7-10 สัปดาห์ จะทำให้ช่อผลและผลชะงักการเจริญเติบโต
• ช่วงวิกฤตมากคือช่วงผลิตผลกำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง หากมีฝนตกหรือได้รับน้ำอย่างกะทันหันจะทำให้เปลือกผลแตกทั้งต้นหรือทั้งสวน
การเตรียมตัวรับภัยแล้งของชาวสวน
1. เตรียมแหล่งน้ำของตนเอง ปรับปรุงบ่อน้ำที่มีให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้
2. ประมาณการณ์น้ำที่มีและพยายามใช้น้ำอย่างประหยัด คือ ให้น้ำต้นไม้ผลภายในบริเวณรัศมีทรงพุ่มด้วยระบบน้ำหยดหรือหัวเหวี่ยงขนาดเล็ก (ประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำ) ให้น้ำครั้งน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา
3. ตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อลดการคายน้ำ สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง หลังการเก็บผลแล้วควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ และช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
4. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก คลุมโคน ต้นไม้ผลในบริเวณทรงพุ่ม
5. กำจัดวัชพืชตั้งแต่ต้นฤดูแล้งใช้วัสดุคลุมโคนต้นไม้ผล โดยคลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม วัสดุที่ใช้ ได้แก่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ผล ใบตองแห้ง ทางมะพร้าว กาบมะพร้าว หญ้าแห้ง เป็นต้น ซึ่งวัสดุคลุมดินจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง และวัสดุเหล่านี้จะค่อย ๆ ผุผังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วยในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง หากต้นยังเล็กจะต้องพรางแสงช่วยด้วย สำหรับไม้ผลบางชนิด เช่น ทุเรียน หากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในช่วงการติดผล อาจทำให้ต้นโทรมและถึงตายได้ หรือมังคุดที่ติดผลแล้ว หากขาดแคลนน้ำผลจะมีขนาดเล็ก ก้นผลจีบ คุณภาพไม่ดี จะต้องรีบทำการตัดทิ้งให้หมด และหาน้ำจากแหล่งอื่นมารดอย่างประหยัดที่สุด
6. สวนไม้ผลที่อยู่ใกล้ทะเลหรือปากแม่น้ำ หมั่นติดตามสถานการณ์การเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ลอกเลนตามร่องสวนเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ สำรองน้ำจืดเก็บไว้ใช้ หากมีวัชพืช เช่น ผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย อยู่ในท้องร่องสวนเป็นจำนวนมาก ควรนำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อช่วยรักษาความชื้น ปิดประตูระบายน้ำในสวน อุดรูรั่วคันดินเพื่อป้องกันน้ำเค็ม หมั่นตรวจสอบระบบส่งน้ำ ควบคุมอย่าให้น้ำรั่วไหล แต่หากน้ำเค็มรุกเข้าสวนแล้ว ให้รีบระบายออกและจัดหาน้ำจืดมาล้างความเค็มออกโดยเร็วเพื่อให้ต้นไม้ผลอยู่รอด
7. กรณีที่ไม่มีระบบน้ำหรือน้ำสำรองไว้ ควรประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ นำน้ำมารดต้นไม้ผลทันที อย่างน้อย 7 – 10 วันต่อครั้ง เพื่อช่วยยืดอายุต้นไม้ผลมีชีวิตรอดผ่านแล้งไปได้
8. การทำแนวกันไฟรอบสวน ควรกำจัดวัชพืชภายในบริเวณสวนไม้ผลให้โล่งเตียนทันทีหลังหมดสิ้นฤดูฝน เก็บเศษหญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง และใบไม้แห้ง ออกจากแปลงปลูกเอาไปคลุมดินรอบโคนต้น เพื่อป้องกันไฟไหม้สวน เตรียมน้ำ ทราย และอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ให้พร้อม และเก็บไว้ในที่เฉพาะ สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ฝึกซ้อมคนงานเพื่อการดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฤดูแล้งอากาศร้อนจัดและมีใบไม้แห้งมาก มีโอกาสเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
จะเห็นได้ว่า การวางแผนเตรียมการล่วงหน้าสำหรับการเกษตร ด้วยการบริหารจัดการน้ำภายในสวนจะสามารถลดความเสียหายของผลผลิต และลดความสูญเสียอื่นๆในสวนไม้ผลได้ ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างยุ่งยาก และต้องลงทุนสูงในช่วงแรก เช่น การวางผังแปลง การวางระบบน้ำ และแหล่งน้ำภายในสวน เป็นต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารจัดการดังกล่าวมีความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะ “น้ำ” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลตลอดอายุการผลิตนั่นเอง
***********************************