กสก. พัฒนาภูมิปัญญา “ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านดงน้อย” สู่สินค้าเกษตรอัตลักษณ์

กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าโครงการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร
เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น ชูผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านดงน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นสินค้าอัตลักษณ์ หลังตลาดต้องการสินค้าจำนวนมาก 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตร
อัตลักษณ์พื้นถิ่น และการเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรว่า เพื่อเป็นต้นแบบ และฐานข้อมูลปัจจุบัน
ที่เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถสืบค้นแต่ละพื้นที่ได้ง่าย ตามโครงการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านการเกษตร เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีเป้าหมาย
ในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรในตัวเกษตรกรหรือชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด
ทั่วประเทศ และคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปีละ 6 จุด รวมจำนวน 18 จุด เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาจากในพื้นที่ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องสู่ความต่อเนื่องและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ในปี 2566 นี้ ภูมิปัญญาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านดงน้อย หรือ ฝ้ายหอมย้อมดิน ภูมิปัญญาการย้อมผ้า
ของชาวบ้านดงน้อย ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มีการเก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 2565 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ มีการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงน้อยอย่างต่อเนื่อง มีการจัดเวทีชุมชนถอดบทเรียนแบบละเอียดเพื่อค้นหา
แนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน  เพื่อต่อยอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ระบบมรดกทางการเกษตร การสร้างเครือข่ายด้านการตลาด ออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างรายได้ การเป็นแหล่งเรียนรู้
การเตรียมความพร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนำสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนศึกษาดูงานนอกสถานที่ที่เมืองไม้บาติก ตำบลนิเวศน์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงน้อย ได้สืบทอด รักษาศิลปะ
และภูมิปัญญาการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติที่ล้ำค่าไม่ให้สูญหาย รวมถึงพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จนมีความสวยงาม แปลกตา และโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ จนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างงาน
สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับสมาชิก ถือเป็นต้นแบบของการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคต
เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และรักษาสิ่งดีงามให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป  

สำหรับกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านดงน้อย หรือ ฝ้ายหอมย้อมดิน ประกอบด้วย การผลิตเส้นใยฝ้าย และการผลิตผ้าฝ้ายมัดย้อม โดยการผลิตเส้นใยฝ้าย มีรายละเอียดประกอบด้วย 1. การเก็บปุยฝ้าย หรือเส้นใยฝ้าย จะเก็บช่วงฤดูหนาว คัดเลือกเฉพาะปุยฝ้ายที่แก่เต็มที่ ดึงปุยฝ้ายออกจากกลีบผล หรือ สมอ คัดเลือกเฉพาะปุยฝ้ายที่สะอาด ไม่ชื้นหรือมีเชื้อรา  2. การตากฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายแห้งสนิทป้องกันการเกิดเชื้อรา
3. การคัดแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า อิ้วฝ้าย 4. การอิ้วฝ้าย จะนำปุยฝ้ายที่ตากแห้งสะอาดดีแล้วมาใช้มือหนึ่งจับที่จับ  ค่อย ๆ หมุนฟันเฟืองไปอย่างต่อเนื่อง  อีกมือจับปุยฝ้ายที่เตรียมไว้ใส่เข้าไประหว่างไม้กลมเกลี้ยงขนานชิดกัน  ซึ่งมีฟันเฟืองอยู่ด้านนอก  ส่วนที่เป็นปุยฝ้ายจะถูกหนีบลอดข้ามไปหล่นลงตะกร้าหรือกระบุงที่เตรียมไว้ ส่วนเมล็ดจะร่วงลงพื้นทำต่อเนื่องไปจนหมด และ 5. ปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นใยฝ้ายจะใช้เครื่องมือ
ที่เรียกว่า กงปั่นฝ้าย หรือ หลาปั่นฝ้าย การปั่นฝ้ายนี้ภาษาท้องถิ่นทางภาคอีสานเรียกว่า  การเข็นฝ้าย  การผลิตผ้าฝ้ายมัดย้อม 1. เตรียมวัสดุที่จะใช้ทำสี เช่น ใบสมอ ดินแดง ประดู่ คราม ฝาง หูกวาง สนิม
และโคลน เป็นต้น 2. ต้มน้ำให้เดือด ใส่วัสดุสีที่เตรียมไว้ ต้มเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อให้สีออก จะได้น้ำสีธรรมชาติ
แล้วทิ้งไว้ให้อุ่น 3. นำผ้าที่จะย้อมชุบน้ำให้เปียก จากนั้นนำไปแช่ในน้ำสี ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที นำขึ้นจากหม้อน้ำสี เอาไปแช่ในหม้อน้ำตัวจับสี แล้วนำไปตาก และซักสี เมื่อได้ผ้ามัดย้อมที่ย้อมสีเสร็จก็นำไปทอ หรือไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าของกลุ่มต่อไป