นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร คือส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด และสามารถพึ่งตนเองได้ โดยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม และให้บริการด้านการเกษตรต่าง ๆ ทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมจำนวนมาก ประกอบกับที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดให้มีการประกวดผลงานเพื่อรับรางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลที่จะมอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการเป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ คือ รางวัลบริการภาครัฐ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และรางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งแต่ละหมวดหมู่จะจำแนกประเภทได้รวมทั้งสิ้น 14 ประเภท โดยจะมีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทำหน้าที่ประกาศรางวัลเลิศรัฐที่มอบให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งขณะนี้มีผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตรผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัลเลิศรัฐ ปี 2566 ในเบื้องต้นที่ระดับดีแล้ว รวมทั้งสิ้น 25 ผลงาน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 มีผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตรผ่านเกณฑ์รางวัลเลิศรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คือเพิ่มขึ้นถึง 12 ผลงาน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัลเลิศรัฐ ปี 2566 ในเบื้องต้นที่ระดับดีแล้ว ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 25 ผลงาน ได้แก่ รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดี คือ ผลงานคลินิกพืช ของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ซึ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างและพัฒนาระบบให้บริการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบของคลินิกพืชในพื้นที่ เกิดเป็นแหล่งให้คำปรึกษาที่เชื่อถือได้ แก้ปัญหาเกษตรกรหลงเชื่อข้อมูลเท็จจากแหล่งอื่น
รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ได้แก่ 1) ผลงานผักห้วยผึ้ง โมเดล ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีความเชื่อมั่นในการร่วมมือกันทั้งกลุ่มเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน
มีการจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการต่อเนื่องมั่นคงและยังมีกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนในชุมชนด้วย 2) ผลงานกลุ่มเกษตรกรยางพาราคำผง ยกระดับการมีส่วนร่วมอย่างครบวงจร ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ที่สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรมีความสามัคคีพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนภาคการศึกษาร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานแปลงใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทประสิทธิผลเครือข่าย ระดับดี คือ ผลงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เกษตรกร ของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ซึ่งนำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรเข้ามาขับเคลื่อนเครือข่ายการจัดการศัตรูพืชของกลุ่มเกษตรกรโดยยึดปัญหาของเกษตรกรเป็นศูนย์กลางได้ตรงกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถขยายผลสู่กลุ่มเกษตรกรอื่นอย่างแพร่หลาย
รางวัลเลิศรัฐ รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดี จำนวน 8 ผลงาน ประกอบด้วย 1) ผลงาน “กาแฟทะเลหอย” กาแฟแก้จน สร้างงาน สร้างรายได้ คนปลายพระยาจังหวัดกระบี่ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ 2) ผลงานน้ำผึ้งดอกไม้ป่า “สองพนา” แก้จนให้ชุมชนบ้านไหนหนังอย่างยั่งยืน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ 3) ผลงานแปลงใหญ่ข้าวหนองสะโน โมเดลแก้จนพึ่งตนเอง ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม 4) ผลงานผึ้งเหนา เส้นทางแห่งความหวาน ณ บ้านคลองบ่อแสน จ.พังงา ของสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา 5) ผลงานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรแปลงใหญ่กาแฟแก้จน คนรักษ์ป่า ของสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน 6) ผลงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียง พลิกนาน้ำท่วม แก้จน ด้วยถั่วดินเวียงทอง ของสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร
7) ผลงานโกโก้ระนองร่วมใจแก้จน รวมพลคนรัก สร้างรายได้หลักให้เกษตรกรไทย ของสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง และ 8) ผลงานกล้วยหอมทองอุดรธานีเงินล้าน สานน้ำโขง ของสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี
ในขณะที่จำนวนอีก 13 ผลงาน มีความโดดเด่นเป็นพิเศษและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อยกระดับให้ได้รับรางวัลเลิศรัฐ รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ประกอบด้วย 1) ผลงานสร้างเงิน สร้างคน วิถีแก้จนแบบคนควนโท๊ะ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ที่ปลูกพืชหลากหลายป้องกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ตลอดจนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืน 2) ผลงานร่วมใจแก้จนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลบ้านใหม่ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี ที่สร้างผลผลิตเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจ้างแรงงานในชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดแนวทางการประกอบอาชีพการเกษตร 3) ผลงานผักเปือยน้อยขึ้นห้างสร้างชีวิต สู้วิกฤตความยากจน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ที่ใช้วัสดุหมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างผลผลิตการเกษตรที่ได้มาตรฐาน 4) ผลงานร่วมใจแก้จนชุมชนกาวะ ผักลอยฟ้าเงินล้าน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการปลูกผัก ป้องกันและจัดการปัญหาการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่องออกผลผลิตการเกษตรที่ได้มาตรฐาน 5) ผลงานวิสาหกิจชุมชนอำเภอสะบ้าย้อยยกระดับกาแฟโรบัสต้าแก้จนคนชายแดนใต้อย่างยั่งยืน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามัคคีกันฟื้นฟูการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นถิ่นแบบผสมผสาน และขยายผลสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร 6) ผลงานมะนาวเงินล้านราชบุรี สวนกระแสโควิด-19 ของสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ที่สร้างผลผลิตการเกษตรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ้างงานคนในชุมชน 7) ผลงาน ศดปช. บ้านลิพอนบางกอกร่วมใจแก้จน หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน บ้านลิพอนบางกอกร่วมใจแก้จน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ที่ลดรายจ่ายจากการใช้ความรู้วิเคราะห์ดิน ผลิตปุ๋ยใช้เอง และสร้างรายได้จากการผลิตปุ๋ยจำหน่ายแก่ชุมชน 8) ผลงานถั่วเหลืองฝักสด ปลดหนี้เกษตรกร ของสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี ที่ปรับเปลี่ยนพืชปลูกทดแทนนาปรัง ใช้เทคโนโลยีเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนเป็นต้นแบบแก่เกษตรกรรายอื่น 9) ผลงานแปลงใหญ่ข้าวเดิมบาง รวยด้วยเทคโนโลยี 4ป + 1 IPM ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เป็นต้นแบบการปลูกข้าวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต 10) ผลงานกล้วยหอมทองแก้จน วิถีคนบึงกาฬ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ที่ปลูกพืชหลากหลายและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดการระบบน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 11) ผลงานซำตารมย์แปลงใหญ่ ทุเรียนภูเขาไฟแก้จน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่พัฒนาสู่การรวมกลุ่มใช้เทคโนโลยีการเกษตรสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน 12) ผลงานโครงการ “ข้าวอินทรีย์ วิถีเมืองธรรมเกษตร” แก้จนให้ชาวนาอำนาจเจริญ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ที่สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการผลิตข้าวมาตรฐานสากล สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจร และ 13) ผลงานการเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮักน้ำจาง ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กับการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ที่ดำเนินกิจกรรมครบคลุมการผลิตสินค้าเกษตร แปรรูป การตลาด รวมถึงการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงาน
กับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคน
*************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว มิถุนายน 2566
ที่มา : กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมส่งเสริมการเกษตร