กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนชาวสวนนครศรีฯขายมังคุดแบบประมูลราคา

กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนชาวสวนมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ
ได้มาตรฐานGAPเพื่อเพิ่มมูลค่า เน้นขายออนไลน์ และการส่งออก ป้องกันสินค้าล้นตลาด และราคาตกต่ำ
พร้อมเพิ่มช่องทางการขายแบบประมูลราคา ป้องกันการกดราคาจากพ่อค้า

นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช

นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงสถานการณ์ผลผลิตมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2566 ว่า ปีนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความโชคดี เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้มีผลผลิตมังคุดออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยคาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตรวมจำนวน 41,000 ตัน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิต 11,000 ตัน เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 30 และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนสิงหาคม ประมาณ 13,412 ตัน ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช บูรณาการร่วมในการประเมินสถานการณ์การผลิตมังคุดและผลไม้อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ

ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตมังคุดล้นตลาดนั้น เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช
กล่าวว่า ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อยกระดับราคาผลผลิตให้สูงขึ้น
โดยมุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก ตลาดออนไลน์ ขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทย และขายแบบประมูลราคาในปริมาณ
ที่เพิ่มมากขึ้น  พร้อมส่งเสริมให้มีการกระจายสินค้าออกนอกแหล่งผลิตให้มากที่สุด และที่สำคัญเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในความปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าผลผลิต เมื่อสินค้าได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ก็สามารถยกระดับสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชมีเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วจำนวน 8,090  ราย

สำหรับแนวทางที่จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP นั้น เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีโดยใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ใช้เท่าที่จำเป็นในระดับที่ปลอดภัย เนื่องจากการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องข้อห้ามต่าง ๆ แต่หลัก ๆ คือลดการใช้สารเคมี โดยให้เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือ วัสดุตามธรรมชาติแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมต้นมังคุดให้มีความสมบูรณ์พร้อมในการให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะต้องตัดแต่งกิ่งในทรงพุ่ม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ระบายอากาศได้ดี ไม่เป็นแหล่งสะสมของโรค
และแมลง พร้อมให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งจะทำให้เพิ่มผลผลิตได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค 

ด้านนายประวิทย์ คงคาวงศ์ เกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกมังคุด อำเภอร่อนพิบูลย์ กล่าวถึงการรวมกลุ่ม
เพื่อจำหน่ายผลผลิตมังคุดให้กับผู้ประกอบการ (พ่อค้า) ว่า ที่มาของการรวมกลุ่มของเกษตรกรก็เพื่อให้มีอำนาจ
ในการต่อรองราคาผลผลิต เพราะหากต่างคนต่างขาย จะถูกผู้ประกอบการ (พ่อค้า) กดราคา ทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ
โดยก่อนการดำเนินการเปิดตลาดประมูลราคาผลผลิตมังคุดของกลุ่ม จะมีการสอบถามผู้ประกอบการ (พ่อค้า) ที่จะมารับซื้อผลผลิตว่า ต้องการผลผลิตมังคุดคุณภาพอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการ (พ่อค้า) แล้วจะแจ้งสมาชิกกลุ่มในการคัดแยกผลผลิตมังคุดตามชั้นคุณภาพตามความต้องการของผู้ประกอบการ (พ่อค้า) แล้วนำผลผลิต
ของสมาชิกกลุ่มมารวม ณ จุดประมูลราคา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณผลผลิตจำนวนมากที่มารวมขาย ณ จุดเดียว จึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา มีผลทำให้ราคาผลผลิตมังคุดที่เกษตรกรขายได้สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป และเป็นที่พึงพอใจ
ของเกษตรกร

“ปัจจุบันราคาขายผลผลิตมังคุด ณ จุดประมูลราคาอยู่ในเกณฑ์ดีและคุ้มทุน ไม่เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการเปิดตลาดประมูลราคา เพราะนอกจากราคาจะต่ำแล้ว ต้นทุนการผลิตยังสูงด้วย เช่น ราคาปุ๋ยแพง และน้ำมันแพง เมื่อนำผลผลิตออกมาขายจะได้ราคาตามราคาท้องตลาดทั่วไป ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 20 บาท แต่หลังจากกลุ่มดำเนินการเปิดจุดประมูลราคา ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาที่สูงขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกมังคุด กล่าว

สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีผลไม้ที่สำคัญ 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกผลไม้รวม 222,052 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 185,860 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 129,152 ตัน มากกว่าปี 2565 จำนวน 50,215 ตัน โดยมังคุดมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ อำเภอพรหมคีรี  ลานสกา ท่าศาลา ชะอวด และ อำเภอร่อนพิบูลย์ เกษตรกรผู้ปลูกมังคุด มีการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่มังคุด จำนวน 36 แปลง