นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และมีแนวโน้มจะเกิดต่อเนื่องยาวไปถึงปี 2567 ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำสำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรและส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรโดยตรง โดยเฉพาะเกษตรกรที่พึ่งพาอาศัยน้ำฝนเป็นหลักอาจได้รับความเสียหายสูง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร”ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ในช่วงเกิดภัย และสามารถทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติด้านการเกษตรในภาพรวมทั้งประเทศ ครอบคลุมในทุกช่วงที่เกิดภัยได้อย่างทันท่วงที
สำหรับ “ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร” จะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำ ผลกระทบและความเสียหายด้านการเกษตร และรวบรวม วิเคราะห์ ประมวลผล สรุปสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงาน ร่วมป้องกัน และเตรียมรับมือบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และภาคเอกชน เช่น การประสานข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร หรือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การขอรถแม็คโครเล็ก ขุดลอกร่องน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในร่องสวน จากกรมชลประทาน การขอฝนหลวง จากกรมการบินฝนหลวง การขอเครื่องสูบน้ำจาก ปภ. เป็นต้น และจัดทำคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ การผลิต การบำรุงดูแลรักษาพืช เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ จัดทำสื่อ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ภัยแล้งในครั้งนี้ อยากขอความร่วมมือเกษตรกรโปรดติดตามข่าวสาร และเตรียมการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน/น้ำ เพื่อลดความเสี่ยง หมั่นดูแลรักษาพืชในภาวะแล้ง ฝนทิ้งช่วง และรักษาความชื้นในแปลงเพาะปลูก รวมทั้งใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า มีระบบการสำรองน้ำ ระบบการให้น้ำ นอกจากนี้เกษตรกรที่สนใจจะตรวจเช็คพื้นที่แห้งแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ GISDA ได้พัฒนาระบบการตรวจเช็คความแล้ง เกษตรกรที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
“เช็คแล้ง” หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ “Cropsdrought” ได้แล้ว