กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาทักษะผู้นำยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา


นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรส่งผลกระทบกับสังคมภาคการเกษตรมากขึ้น จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แรงงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรน้อยลง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีนโยบายในการพัฒนาขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาตัวสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรและกลุ่มยุวเกษตรกรควบคู่กันไปและให้ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันพร้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นทิศทางในการพัฒนากิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายยุวเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศเชื่อมโยงการพัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพในอนาคตต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแนวทางในการสร้างบุคลากรทางการเกษตรผ่านการดำเนินงานส่งเสริมยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ในการสืบทอดอาชีพการเกษตร มุ่งเน้นการสร้างทายาทเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่น โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะทางด้านการเกษตร สนับสนุนและจูงใจให้ลูกหลานเกษตรกรเข้ามาทำการเกษตรมากขึ้น และเข้าสู่อาชีพการเกษตร จึงร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดสัมมนาพัฒนาทักษะผู้นำยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2566 (Agricultural Leadership Development Program) ให้แก่สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา จำนวน 15 กลุ่มนำร่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายกลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา เสริมสร้างภาวะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีมและเสริมสร้างองค์ความรู้การจัดทำแผนธุรกิจ (Business Model Canvas) ให้แก่สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา และเชื่อมโยงเครือข่ายเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรกับที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรด้านการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา โดยงานสัมมนาฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องไฮเดรนเยีย 1 โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร มีบุคคลเป้าหมายเข้าร่วมงานสัมมนาจำนวน 110 คน

            รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรไว้ 5 แนวทางดังนี้ 1) ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับยุวเกษตรกรอย่างมีศักยภาพโดยสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรเคหกิจเกษตร ทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ทักษะการทำงานเป็นทีมและเสริมสร้างความเป็นผู้นำผ่านรูปแบบการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) 2) ส่งเสริมกลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกลุ่ม การปฏิบัติงานของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร/ และการประเมินผลกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ 3) สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกัน สนับสนุน ต่อยอดให้ยุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ระหว่างกันอันจะนำไปสู่การพัฒนางานยุวเกษตรกรได้รอบด้านและทันต่อสถานการณ์ 4) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานยุวเกษตรกร โดยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้าใจในการดำเนินงานยุวเกษตรกรให้สามารถปฏิบัติงานและขับเคลื่อนการพัฒนางานยุวเกษตรกร ให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ และ 5) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนางานยุวเกษตรกรเชิงรุกเพื่อให้สาธารณชนรับรู้เชื่อถือและเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการพัฒนายุวเกษตรกรอันนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานที่ดีของชุมชนต่อไป