กรมส่งเสริมการเกษตรลุย 3 ภารกิจพัฒนาเกษตรกรโครงการเกษตรวิชญาเชียงใหม่

กรมส่งเสริมการเกษตร น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางพัฒนาเกษตรกรโครงการเกษตรวิชญา จังหวัดเชียงใหม่ เน้นถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร ใช้ชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี และพัฒนาแปลงสาธิต เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้การผลิตพืชบนพื้นที่สูง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าเกษตรวิชญา” เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ตั้งอยู่ที่บ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานในลักษณะเป็นคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมสนองการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา โดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร และการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษเป็นหลัก พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการประกอบอาชีพทางการเกษตรและการดำเนินชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา สำเร็จตามเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการดังนี้

1) ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร ให้กับเกษตรกรในโครงการฯ จำนวน 60 ราย ได้แก่หลักสูตรมาผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้กันเถอะ ระบบการผลิตพืชเพื่อสร้างรายได้และความยั่งยืน การเพาะเลี้ยงแมลงมัน (แมงมัน) และหลักสูตรการป้องกันกำจัดศัตรูพืชผักและไม้ผลเมืองหนาว พร้อมทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีกล เช่น กาวเหลืองดักแมลง พลาสติกเหลืองล่อแมลง และสารล่อแมลงวันเมทิลยูจินอล

2) จัดทำแปลงเกษตรกรต้นแบบ ในการใช้ไตรโคเดอร์มา เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคพืชในแปลงปลูกหอมหัวใหญ่ จำนวน 2 แปลง

3) ปรับปรุงและพัฒนาแปลงสาธิตด้านการเกษตร ให้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ในการผลิตพืชบนพื้นที่สูง พื้นที่จำนวน 5 ไร่ ซึ่งมีแปลงสาธิตการผลิตไม้ผล ผัก และพืชผักสมุนไพร ได้แก่ อะโวคาโด แอปเปิล ฟักทอง ถั่วยาว ผักสลัด ผักเชียงดา และมะแขว่น GI สายพันธุ์โป่งแยง เป็นต้น รวมถึงแปลงเรียนรู้พืชสมุนไพรเพื่อการจัดการศัตรูพืช โดยปลูกพืชสมุนไพร จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ยี่โถ หางไหล หนอนตายอยาก พริกไทย ดีปลี ผกากรอง ชะพลู ว่านหางจระเข้ ว่านน้ำ บอระเพ็ด ชุมเห็ดเทศ และลำโพง

“จากการดำเนินงาน ทำให้เกษตรกรในโครงการเกิดองค์ความรู้ทั้งในการผลิตพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ด้วยวิธีกลและใช้ชีวภัณฑ์ เพื่อลดการใช้สารเคมี สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเก็บไว้ใช้เองได้ รวมถึงมีแปลงสาธิต
ด้านการเกษตรให้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ในการผลิตพืชบนพื้นที่สูง ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้ และนำไปปรับใช้กับกิจกรรมของตนเองต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

******************************