“เกษตรผสมผสาน” แก้ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน ชายแดนใต้

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอันมิสามารถประเมินค่าได้ ทั้งยังก่อให้เกิดความหวาดระแวง ระหว่างประชาชนต่อรัฐ รวมทั้งความหวาดระแวงระหว่างประชาชนต่อประชาชน เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไปและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ ทำให้เกิดภาวะการผลิตหดตัว เนื่องจากประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ผู้ประกอบการต้องเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการเพราะขาดความมั่นใจในความปลอดภัย เกิดปัญหาการว่างานสูง ซ้ำเติมปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนลดความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ อีกทั้งยังมีลักษณะพิเศษทางสังคมและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและนิยมใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในชีวิตประจำวัน มีอัตลักษณ์เฉพาะและมีประวัติศาสตร์ของตนเอง ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรมและความมั่นคง การแก้ไขปัญหาจึงต้องดำเนินการให้ครอบคลุมสาเหตุทุกมิติ อย่างประสานสอดคล้อง เกื้อหนุนและเป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นพื้นที่การปกครองพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นองค์กรรับผิดชอบในระดับนโยบาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นองค์กรรับผิดชอบในระดับยุทธศาสตร์รองรับนโยบายให้ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นองค์กรอำนวยการระดับพื้นที่รับผิดชอบกำกับดูแลการดำเนินงานของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และ กองบัญชาการผสม พลเรือนตำรวจทหาร (พตท.)

โครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ ภายใต้แผนบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 37 อำเภอ ประกอบด้วย 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคง ขาดโอกาสทุกด้าน โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ทำกิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และอาชีพของประชาชน ด้วยความห่างไกล ทุรกันดาร จึงทำให้มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาโครงส้างพื้นฐานและการเข้าถึงบริการของรัฐไม่ทั่วถึง มีปัญหาความยากจน (รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี) รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของภาคใต้ บางรายมีรายได้ไม่ผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานหรือ จปฐ. (38,000 บาท/ปี) ไม่มีทุนในการทำการเกษตร ขาดความพร้อมในองค์ประกอบทางการทำการเกษตร มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาศัยพึ่งพิงรายได้จากทางเดียว มีการทำการเกษตรในพื้นที่จำกัด เกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซ้ำซาก บางพื้นที่เกิดภัยธรรมชาติซ้ำซาก เช่น น้ำท่วม ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำ เนื่องจากผจญอยู่กับปัญหาหลายด้าน ประกอบกับการเปิดรับความรู้ใหม่ ยังไม่กว้างขวาง ความใกล้ชิดและมีภาษาและศาสนาเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้รู้สึกผูกพันธ์กับความเป็นไทยน้อยลงไปด้วย การแก้ไขและพัฒนาชายแดนภาคใต้จึงมีความซับซ้อนและเปราะบางมาก

กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมบูรณาการภายใต้โครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยการสร้างเสริม และยกระดับ คุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่และสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนงานตามภารกิจ โดยเฉพาะการปลูกพืชเป็นหลัก รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ กำหนดจัดกิจกรรมผ่านสภาตำบลสันติสุข ตามแนวทางส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ ร่วมรับผลที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงของพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลพพื้นที่ คน สินค้า และวางแผนการพัฒนา ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีที่ถูกต้องเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่/ชุมชน  โดยฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ ทัศนศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เปิดโลกทัศน์การทำการเกษตรและการบริหารจัดการต่างๆ นำมาปรับใช้ในแปลงเกษตรของตนเองและเป็นต้นแบบแก่ผู้อื่น สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ส่งเสริมด้านการตลาด และจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อขยายผลความสำเร็จไปสู่เกษตรกรรายอื่น

กระบวนการส่งเสริมในพื้นที่มุ่งเน้นสร้างเกษตรกรต้นแบบ หรือ เกษตรกรตัวอย่าง ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยนำหลักการและกระบวนงานเกษตรผสมผสานเป็นเครื่องมือการพัฒนาด้านการเกษตร คัดเลือกเกษตรกรที่มีความขยัน อดทน มุ่งมั่น ตั้งใจในการทำการเกษตร มีพื้นที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งไร่ ให้ความรู้ ฝึกทักษะ สนับสนุนปัจจัยสร้างแปลง พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เชี่ยวชาญและจัดเวทีพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาเติมเต็มเป็นเกษตรผสมผสานที่เป็นต้นแบบของชุมชน เป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรในหมู่บ้าน ชุมชน เข้ามาศึกษา เรียนรู้และนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และยังเป็นจุดกระจายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ให้กับชุมชน ให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งความรู้ในชุมชน สร้างเกษตรกรและแปลงเกษตรผสมผสานต้นแบบในทุกตำบล ตำบลละไม่น้อยกว่าหนึ่งแห่ง โดยในปี พ.ศ. 2566 สามารถสร้างต้นแบบประจำตำบลได้ครบทั้ง 282 ตำบลแล้ว ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 75 ตำบล จังหวัดสงขลา 40 ตำบลจังหวัดปัตตานี 111 ตำบล และ จังหวัดยะลา 56 ตำบล  และเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจและเผยแพร่เกียรติคุณแก่ผู้ประสบวามสำเร็จด้านการเกษตร จึงได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบผ่านการประกวดการทำเกษตรผสมผสานดีเด่นระดับเขต มีผู้ชนะการประกวดดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่  นางกัญญาภัค นวลศิลป บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 11 ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นายขจรจักษ์ คงคนึง บ้านเลขที่ 145 หมู่ที่ 5 ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่นายอับดุลกอเดร์ เจ๊ะเด็ง บ้านเลขที่ 3/3 หมู่ที่ 10 ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และนายฆอรอเฮง  ดอฆอ บ้านเลขที่ 12/1 หมู่ที่ 3  ตำบลปุโรง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ประชาชนและผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมและศึกษาเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้คุณภาพของชุมชนเหล่านี้ได้

จากการประเมินผลการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อความมั่นคงทางอาหาร พบว่า มีผลที่เกิดขึ้นเป็นดังนี้

1. ผลที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร

– เกษตรกรมีความมั่นคงจากการดำเนินชีวิตบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครบองค์ประกอบ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ เกษตรกรมีการประมาณการก่อนลงมือทำ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเหตุผลในการตัดสินใจ มีความหลากหลายของกิจกรรม เกิดภูมิคุ้มกันทุกมิติ ทั้งด้านอาหาร รายได้ ความรู้ สังคม เกิดความรู้อย่างต่อเนื่อง จนเชี่ยวชาญในการปฏิบัติและถ่ายทอดแก่ผู้อื่นได้ เกิดความเอื้ออารี มีความอาทรต่อเพื่อบ้าน แบ่งปันและเป็นมิตร

– มีความรู้ในการทำการเกษตรอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ยอมรับและมั่นใจการปฏิบัติตามหลักวิชาการมากขึ้น

– มีความมั่นใจที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติ สามารถเป็นวิทยากรได้

– มีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน เช่น แตงโม แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ พริก พริกไทย พืชเครื่องปรุงต่างๆ สามารถลดรายจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อเดือน/ครัวเรือน

– มีรายได้ที่เกิดจากการทำกิจกรรมไม่น้อยกว่า 38,000 บาท/ครัวเรือน/ปี (สูงกว่าเกณฑ์ จปฐ.)

– เกษตรกรยอมรับเกษตรผสมผสาน มีความคิดอยากต่อยอดปลูกพืชผักในลักษณะผสมผสาน และอยากให้เพื่อนบ้านทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อให้มีอาหารบริโภคและลดความเสี่ยงลดปัญหาในพืชเชิงเดี่ยว

– ลดความเครียด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติเกิดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ห้ามออกนอกพื้นที่ แต่เนื่องจากยังมีพืชผักในบ้าน ในชุมชน จึงช่วยลดรายจ่ายและการนำเข้าจากนอกชุมชนได้

– เกษตรกรมีการเรียนรู้พัฒนาการผลิตและพัฒนาการตลาดผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

– เกิดองค์ความรู้เผยแพร่แก่คนทั่วไป เช่น การทำเกษตรผสมผสาน, การปลูกพืชผัก, การขยายพันธุ์พืชการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า, การปลูกพืชต่างๆ เช่น ลองกอง ฝรั่ง มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน

2. ผลที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ

– การดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนทุนเริ่มต้น เพิ่มเติมให้แก่เกษตรกร ในลักษณะการจัดซื้อปัจจัยให้แก่เกษตรกร ให้เกษตรกรสามารถดำเนินการใด้ทันที หรือต่อยอดกิจกรรมเดิมที่มีอยู่ เกิดการผลิต เกิดการจ้างงาน มีแหล่งอาหารในชุมชน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและเกษตรกรเครือข่ายและเกิดการหมุนเวียนในชุมชน

– มีการรวมกลุ่มรวบรวม เพื่อขายผลผลิต

– เกิดเครือข่ายการผลิต การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างเกษตรกร

– มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตเพิ่ม สมาชิกของครอบครัวเกษตรกรต้นแบบบางราย อาสาเป็นผู้รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตให้สมาชิกในชุมชน โดยรับซื้อในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนกลาง เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน

3. ผลที่เกิดขึ้นด้านสังคม

– การทำกิจกรรมการเกษตร เป็นเรื่องที่เปิดใจให้คุยกันได้ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกศาสนา ไม่แบ่งแยกชุมชน เป็นจุดเชื่อมโยงของทุกคน เกษตรกรใช้คำว่า “ถ้าพูดเรื่องอื่นไม่สร้างสรรค์ หันมาคุยเรื่องเกษตร”

– มีเกษตรกรต้นแบบในชุมชน เป็นต้นแบบและผู้นำด้านการเกษตรในชุมชน เป็นจุดเรียนรู้ของนักเรียน และผู้สนใจทั่วไป

– มีแหล่งอาหารในชุมชนทุกอำเภอ (บริโภคในครัวเรือน + แจกจ่าย + จำหน่ายในพื้นที่) ครอบคลุมทุกตำบล ๒๘๒ ตำบล

– เกิดเครือข่ายในชุมชน ได้พูดคุยกันมากขึ้น ตลอดจนสร้างแนวคิดต่อยอดช่วยเหลือกันในชุมชน เพื่อชุมชน เกิดความรักสามัคคีและปรองดองในชุมชน

– โดยส่วนใหญ่เกษตรกรผลิตเพื่อขายในชุมชน ทำให้มีแหล่งอาหารที่สดสะอาดในพื้นที่/ชุมชน ลดการนำเข้าจากนอกพื้นที่

– เกิดต้นแบบในชุมชนทุกทุกตำบล เป็นพื้นที่ Safety and Happiness Zone ให้ผู้สนใจ สมาชิกในชุมชนได้มาพบปะพูดคุยกันได้ตลอดเวลา เป็นศูนย์รวมความรู้ด้านการทำมาหากินของชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขและพัฒนาในด้านต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ สามารถมาร่วมต่อยอดหรือดำเนินกิจกรรมได้

– มีเครือข่ายเข้ามาเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 5,000 ราย/ปี

– สำนักงานเกษตรจังหวัดเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีผลผลิตมาจำหน่ายสินค้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกวันจันทร์ ภายใต้ตลาดเกษตรสีเขียว

4. ผลที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม

– เกษตรกรบางรายลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ยางพารา) เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรผสมผสาน เกิดความหลากหลายของพืชและกิจกรรมเกษตรที่เกื้อกูลกัน เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี

– เกษตรกรมีการบริหารจัดการทรัพยากร มีการวางแผนดำเนินกิจกรรม เกิดการเกื้อกูลในแปลงที่ดำเนินกิจกรรม

– เกษตรกรมีความเข้าใจการทำการเกษตรที่ถูกต้องมากขึ้น ผลิตแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการลดการใช้สารเคมี และมีเป้าหมายการทำการเกษตรแบบ GAP, เกษตรอินทรีย์

การสร้าง เสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วย การส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานของกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างครอบคลุมทุกมิติ

ที่มา : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา