นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ปรากฎว่าพบมีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังแทบทุกจังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลัง ประกอบกับยังไม่มีพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างในประเทศไทย ดังนั้นมาตรการควบคุมการระบาดจึงเป็นสิ่งจําเป็นที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องรู้และปฏิบัติเพื่อช่วยกันควบคุมการระบาดครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบนโยบายและเน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัดลงพื้นที่สร้างการรับรู้และเน้นย้ำความจำเป็นที่ให้เกษตรกรปลูกพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทาน มีอาการของโรคน้อย ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ระยอง 72 และพันธุ์ห้วยบง 60
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้ง 54 จังหวัด เพื่อซักซ้อมแนวทางการลงพื้นที่สำรวจ รวมทั้งคัดเลือกแหล่งพันธุ์สะอาดสำหรับใช้ฤดูการปลูกถัดไป โดยอาจคัดเลือกจากพื้นที่ปลูกที่ยังไม่มีรายงานการระบาดในพื้นที่ภาคเหนือ หรือในแปลงใหญ่มันสำปะหลังเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้ง 54 จังหวัดทั่วประเทศ เร่งสำรวจและดำเนินการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยประสานขอความร่วมมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ลงพื้นที่สำรวจการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังและรายงานผลกลับมายังกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้รับทราบถึงสถานการณ์การระบาดล่าสุดและประเมินหาแนวทางป้องกันแก้ไขที่สอดคล้องกันตลอดช่วงฤดูกาลปลูก
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการในภาพรวม กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงยึดมาตรการจัดการโรคใบด่าง 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1) สร้างการรับรู้ โดยการผลิตสื่อถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัย เข้าถึงง่าย รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งได้สั่งการและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ด้านอารักขาพืช เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ชี้แจงทำความเข้าใจให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบของโรคในทุกโอกาส 2) การเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาด โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงวิธีการสำรวจ เน้นให้มีการสำรวจแปลงสม่ำเสมอ การจัดทำแปลงพยากรณ์เตือนการระบาด และส่งเสริมการใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่าง 3) การควบคุมการระบาด โดยการทำลายต้นเป็นโรค ควบคุมแมลงหวี่ขาวยาสูบ และสร้างข้อตกลงร่วมของชุมชน 4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคใบด่างมันสำปะหลังตามระเบียบกระทรวงการคลัง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 5) การวิจัยและพัฒนาเพื่อการจัดการในระยะยาว โดยการพัฒนาพันธุ์ต้านทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยพัฒนา โดยคาดการณ์ว่าจะได้พันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังในปี 2572 รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการระบาดของโรค และ 6) การติดตามและประเมินผล โดยการสร้างกลไกการติดตามในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเอง โดยสำรวจทุกต้นอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ ด้วยการเดินสำรวจแบบตัวยู คือ เดิน 1 แถวปลูก เว้น 3 แถวปลูก กรณีมันสำปะหลังอายุมาก ต้นสูง และเดิน 1 แถวปลูก เว้น 5 แถว กรณีมันสำปะหลังอายุน้อย ต้นไม่สูงมาก พร้อมสังเกตอาการบริเวณยอดมันสำปะหลัง หากพบอาการของโรคใบด่างให้เร่งทำลายต้นเป็นโรคก่อนที่แมลงหวี่ขาวยาสูบจะนำไปแพร่ยังต้นอื่น ๆ ต่อด้วยการบดสับต้นเป็นโรคใส่ถุงดำมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย และแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทราบทันที ส่วนพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เกษตรกรควรเว้นช่วงการปลูกมันสำปะหลัง 1 ฤดูการปลูก เพื่อหยุดวงจรการระบาด โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่อื่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามอาจมีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 ในกรณีเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ปัจจุบันพบจังหวัดที่มีการระบาดแล้ว จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุทัยธานี สระแก้ว กาญจนบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น ราชบุรี ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชลบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ระยอง เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พิจิตร สุรินทร์ หนองบัวลำภู และจังหวัดอุบลราชธานี
******************************
พีรมณฑ์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ข่าว : สิงหาคม 2566
กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย : ข้อมูล