นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้ทุกสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ติดตามสถานการณ์จากฝนตกหนักและฝนตกสะสมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ และผลรายงานตัวเลขภาพรวมคาดว่าจะมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมากที่สุดในขณะนี้ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดกาฬสินธุ์
โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ความเสียหายเบื้องต้นใน5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปางมะผ้า สบเมย ปายแม่ลาน้อย และอำเภอเมือง จำนวน 11 ตำบลเกษตรกร 810 ราย พื้นที่ความเสียหายเบื้องต้นจำนวน 2,540 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว จำนวน 1,243 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 1,266 ไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้นและอื่นๆ จำนวน 31 ไร่ ซึ่งตอนนี้อำเภอสบเมย ได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติ จำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสบเมย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 66 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2566)
ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ความเสียหายเบื้องต้นใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกมลาไสย เขาวง นาคูสมเด็จ กุฉินารายณ์ และอำเภอห้วยผึ้ง จำนวน 26 ตำบล เกษตรกร 2,954 ราย พื้นที่ความเสียหายเบื้องต้น จำนวน 16,334.50 ไร่ ซึ่งเป็นข้าว จำนวน16,328.50 ไร่ และ พืชไร่พืชผัก จำนวน 6 ไร่ ซึ่งตอนนี้อำเภอที่ได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติ จำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกมลาไสย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม66 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2566)
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรดำเนินการเตรียมพันธุ์พืชผักและไม้ผล สำหรับสนับสนุนเกษตรกรหลังน้ำลด ทันที รวมถึงการสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟู ป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืชให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยภายหลังน้ำลด ซึ่งสามารถใช้ในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ทั้งบริเวณราก ลำต้น และใบ เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติดของทุเรียน โรคเน่าคอดิน โรคกาบใบแห้งของข้าว โรคเหี่ยว โรคแอนแทรคโนสของพริก เป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถขอรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช(ศทอ.)
กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท ทั้งนี้เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน