กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชน เสริมเขี้ยวเล็บให้กับเจ้าหน้าที่ เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐานธุรกิจท่องเที่ยว

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าจากกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่นิยมเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและท่องเที่ยววิถีชุมชนมากขึ้น ประกอบกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวประเภทดังกล่าว การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชน และนำเสนอกิจกรรมของชุมชนส่งต่อไปยังนักท่องเที่ยว ใส่จินตนาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการนำมูลค่าแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร คุณค่าแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ชุมชน นำอัตลักษณ์หรือความโดดเด่นของชุมชนมาเป็น Soft Power ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในด้านการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เตรียมความพร้อมให้กับวิสาหกิจชุมชนในด้านบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการเพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน นำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เน้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตร วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าจากเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ผ่าน Soft Power ชูจุดเด่นของสินค้าการเกษตร รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวต้องตระหนักถึงคุณภาพมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจการท่องเที่ยว

ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของวิสาหกิจชุมชน จำนวน 56 แห่ง และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบ จำนวน 6 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการสรุปผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐานธุรกิจท่องเที่ยว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ระหว่างวันที่ 17 – 19 กันยายน 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวมจำนวนทั้งสิ้น 104 คน แบ่งเป็น รูปแบบ Onsite ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับเขต และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร จำนวน 40 คน ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับจังหวัด จำนวน 64 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนและให้คำแนะนำ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายในการดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ดังนี้ 1) การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มีมาตรฐานความปลอดภัย มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย มีการให้บริการที่ดี และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและชุมชน และเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว 2) การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้ยึดหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยในปี 2567 กำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามแนวทาง BCG Model 3) การจัดเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร 4) การยกระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยส่งเสริมการประเมินมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย และ 5) การส่งเสริมการตลาดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การใช้ ตราสัญลักษณ์ A (Agrotourism) และการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ