กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศรายชื่อศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 โดย ศจช. ตำบลโรงเข้ จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ ศจช. ดีเด่น ระดับประเทศ ผลงานเด่น คือการใช้แตนเบียนบราคอน กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ไม่ให้ระบาดซ้ำในสวนมะพร้าว ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 เป็นของ ศจช. ตำบลฆ้องชัยพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์ และ ศจช. ตำบลแม่ตืน จังหวัดลำพูน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงผลการประกวดศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ว่า คณะกรรมการตัดสินการประกวดฯได้มีมติเห็นชอบผลการประกวด ศจช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ดังนี้ ศจช. ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1คือ ศจช. ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ศจช. ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร ส่วนรางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ ศจช. ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ศจช. ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และ ศจช. แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล ศจช. ละ 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
สำหรับ ศจช. ตำบลโรงเข้ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากมีผลงานที่โดดเด่น และได้คะแนนตามหลักเกณฑ์
ที่คณะกรรมการฯ กำหนด โดยเฉพาะการจัดการศัตรูมะพร้าวในสวนมะพร้าวน้ำหอมโดยวิธีผสมผสาน เช่น หนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และด้วงแรดมะพร้าว เป็นต้น ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำ โดย ศจช. ตำบลโรงเข้มีการผลิตขยายแตนเบียนบราคอน ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ที่เป็นศัตรูสำคัญของมะพร้าวน้ำหอม สำหรับการผลิตขยายแตนเบียนบราคอน เกษตรกรจะใช้หนอนผีเสื้อข้าวสารเป็นเหยื่อเพื่อให้แตนเบียนวางไข่ โดยแตนเบียนเพศเมียจะใช้อวัยวะวางไข่คล้ายเข็มแทงเข้าไปในตัวหนอนเพื่อวางไข่ และฟักเป็นตัวอ่อนของแตนเบียนบราคอนอาศัยกินของเหลวจากภายในตัวหนอนและพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยรุ่นต่อไป จากนั้นเกษตรกรจะนำไปปล่อยในสวนมะพร้าว เพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว สามารถป้องกันการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส หรือ Bt ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ และกับดักฟีโรโมนในการป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว ทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และยังมีการขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ และขยายผลสู่ ศจช. ในพื้นที่ใกล้เคียง อีก 10 แห่ง ได้แก่ ศจช. ตำบลสวนส้ม ศจช. ตำบลบ้านแพ้ว ศจช. ตำบลยกกระบัตร ศจช. ตำบลหลักสาม ศจช. ตำบลคลองตัน ศจช. ตำบลหนองสองห้อง ศจช. ตำบลหลักสอง
ศจช. ตำบลหนองบัว ศจช. ตำบลบ้านเกาะ และศจช. ตำบลท่าเสา
นอกจากนี้ ศจช. ตำบลโรงเข้ ยังเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดการดำเนินงานของ ศจช. ในอนาคต จนมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนจนเกิดภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง และได้รับการยอมรับจากบริษัทส่งออกมะพร้าว นำมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลกว่ามะพร้าวน้ำหอมมีรสชาติหอมอร่อยเป็นเอกลักษณ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ได้แก่ ศจช. ตำบลฆ้องชัยพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์ การดำเนินงานมีความโดดเด่นในการที่มีผู้นำเกษตรกรที่เข้มแข็ง มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการควบคุมศัตรูข้าวได้เป็นอย่างดี มีการผลิตชีวภัณฑ์ที่หลากหลาย สมาชิกให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม สมาชิกมีการลงทุน (ลงหุ้น) ร่วมกันเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการดำเนินการของ ศจช. ทำให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพ และ ศจช. ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และชีวภัณฑ์ จากหน่วยงานภาคีในพื้นที่
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ศจช. ตำบลแม่ตืน จังหวัดลำพูนโดดเด่นในด้านการมีสถานที่และอุปกรณ์ในการผลิตขยายชีวภัณฑ์พื้นฐานที่เหมาะสม และมีตู้เย็นสำหรับเก็บชีวภัณฑ์ มีอาคาร สถานที่ตั้งเหมาะสม และอุปกรณ์ที่พร้อมดำเนินงาน ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลแม่ตืน ในการทำกิจกรรมหลักของ ศจช. ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยี และสถานที่ตั้ง และมีเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อชีวภัณฑ์ชนิดน้ำ และหัวเชื้อชีวภัณฑ์ชั้นขยาย (ข้าวฟ่าง) สำหรับควบคุมศัตรูพืชที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ
สำหรับการประกวด ศจช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. คัดเลือกผลงาน ศจช. ดีเด่นระดับประเทศ 2. เพื่อให้ศจช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน สร้างความภาคภูมิใจในการสืบทอดอาชีพด้านการเกษตรของเกษตรกร 3. เพื่อเผยแพร่ผลงานของศูนย์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับศึกษาผลงาน จาก ศจช. ดีเด่น ระดับประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ และ 4. เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงาน ศจช. ส่วนหลักเกณฑ์การให้คะแนนจะเน้นใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ความคิดริเริ่ม 2. ความสำเร็จในการดำเนินงานของ ศจช. 3. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4. ความมั่นคง ยั่งยืน
ทั้งนี้ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เป็นเครือข่ายในการจัดการศัตรูพืชระดับชุมชนของกรมส่งเสริมการเกษตร เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อร่วมกัน แก้ไขปัญหาศัตรูพืชในพื้นที่ของตนเองและชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปจัดการเรียนรู้ แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) ให้แก่สมาชิกของศูนย์ฯเพื่อนำความรู้ไปจัดการศัตรูพืชด้วยตนเอง ใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืช ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางการเกษตร ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนและมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม