กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมยินดี ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนนาหนองไผ่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศรายชื่อศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 โดย ศดปช. ตำบลนาหนองไผ่ จ. สุรินทร์ ได้รางวัลดีเด่นระดับประเทศ รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 เป็นของ ศดปช. ตำบลราชกรูด จ. ระนอง และ ศดปช. ตำบลแม่น้ำคู้ จ. ระยอง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงผลการคัดเลือกการประกวดศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯได้ประกาศผลการคัดเลือก ศดปช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ผลปรากฏว่า ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนองได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยองได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนรางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ ศดปช. ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ศดปช. ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และศดปช. ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท

สำหรับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลนาหนองไผ่ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากมีจุดเด่นและได้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯกำหนด โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่หรือแปลงเกษตรของตัวเอง ประกอบด้วย 1. การปรับที่นาด้วยเลเซอร์ 2. การดีท็อกดินด้วยชีวภัณฑ์ (Detox Din) 3. การเพาะเลี้ยงและขยายแหนแดงพันธุ์ Azolla microphylla  4. การใช้แบค – บอล (Bac – Ball) เพื่อย่อยสลายสารเคมีและควบคุมโรคพืชที่ตกค้างในดิน 5.การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ PGPR II เพื่อลดต้นทุนการผลิต และ6.การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแก่สมาชิกและเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 – 2566 โดยให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย  และให้บริการกับเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก นอกจากนี้ ศดปช. ตำบลนาหนองไผ่ ยังมีการวิเคราะห์ศักยภาพและจัดทำแผนพัฒนา ศดปช. ด้วยเครื่องมือ Smart A4 และบรรจุแผนดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล ปี 2566 – 2570

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง โดดเด่นในด้านการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปจัดการอย่างเหมาะสม ได้แก่การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมัก และไบโอชาร์ มีเครือข่ายด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน และสามารถบริหารจัดการงบประมาณหรือเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่ม ก่อให้เกิดรายได้ สำหรับการดำเนินกิจกรรมของ ศดปช. เช่น มีการระดมหุ้น จากสมาชิก จำนวน 142 ราย และมีเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลแม่น้ำคู้ จังหวัดระยองโดดเด่นในด้านการวางแผนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อจัดการของเหลือใช้ทางการเกษตรสู่กระบวนการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยได้นำเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศของกรมวิชาการเกษตรมาปรับใช้อย่างเหมาะสม การเพาะขยายแหนแดงเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์มีแปลงเรียนรู้ยางพาราและมันสำปะหลังในการลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และสมาชิกร่วมกันวิเคราะห์กลุ่มและจัดทำแผนพัฒนา ศดปช. ด้วยเครื่องมือ SWOT Analysis และ TOWs Matrix และนำแผนที่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่น

สำหรับการประกวด ศดปช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. คัดเลือก ศดปช. ดีเด่นระดับประเทศ ที่มีผลงานดีเด่นในด้านบริหารจัดการและการขยายผลการส่งเสริมการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต จนเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้ 2. เพื่อให้ ศดปช. ดีเด่น ระดับประเทศ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน สร้างความภาคภูมิใจในการดำเนินกิจกรรมที่มีส่วนในการพัฒนาเกษตรกรในชุมชน
3. เผยแพร่ผลงานของ ศดปช. ที่ได้รับการคัดเลือก และ4.สร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของ ศดปช. โดย ศดปช. ที่จะเข้าร่วมประกวดในระดับประเทศ ต้องดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี และได้รับการคัดเลือกเป็น ศดปช. ดีเด่น ระดับเขต ประจำปี 2566 ส่วนหลักเกณฑ์การให้คะแนนจะเน้นใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ความคิดริเริ่ม 2. ความสำเร็จในการดำเนินงานของ ศดปช. 3. ความสามารถในการบริหารจัดการ 4. การมีส่วนร่วมของสมาชิก และ 5. ความมั่นคง ยั่งยืน

ทั้งนี้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนเป็นเครือข่ายด้านดินและปุ๋ยของกรมส่งเสริมการเกษตร แหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว บริการงานวิชาการ จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ย พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้ และจุดสาธิตให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ