กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง โรครากเน่า โคนเน่าทุเรียน

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่า โดยเฉพาะ ต้นทุเรียนที่อยู่ในระยะเก็บผลผลิตและระยะเริ่มแตกใบอ่อน เนื่องจากโรครากเน่าโคนเน่า เป็นโรคที่สำคัญของทุเรียน เพราะสามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกส่วน และเป็นโรคที่ทำให้ต้นทุเรียนซึ่งกำลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแล้วยืนต้นตายได้ สาเหตุโรคนี้เกิดจากเชื้อราไฟทอปเธอรา (Phytophthora palmivora) ที่แพร่กระจายในอากาศตามกระแสลม น้ำและฝน โดยเชื้อราสร้างสปอร์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำได้ และสร้างสปอร์ที่สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน เมื่อสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม คือเป็นช่วงฝนตกชุก และความชื้นสัมพัทธ์สูง สปอร์ของเชื้อรานี้จะงอกและสร้างเส้นใยเข้าทำลายพืชได้ดี

สำหรับลักษณะอาการของโรค ที่สังเกตได้จากส่วนต่าง ๆ ของต้นทุเรียน ได้แก่ อาการที่ราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง ต่อมาใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก พบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ระยะแรกจะสังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลือง แผลฉ่ำน้ำ ตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นแล้วหลุดร่วง พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน และหากมีการติดเชื้อที่ผลจะทำให้ผลเน่า

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมและป้องกันกำจัดโรครากเน่า
โคนเน่าทุเรียนควรใช้วิธีการแบบผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
เกษตรกรควรปรับปรุงดิน โดยใส่
ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 หากดินมีสภาพเป็นกรดจัด
ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ และลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคในดิน โดยหว่านชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาบริเวณใต้ทรงพุ่มทุเรียนที่มีรากฝอยเจริญ รวมทั้งในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้กับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรตรวจดูแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และหากพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ให้พ่นทรงพุ่ม หรือราดด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 15 วัน และ/หรือใช้สารฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ฉีดเข้าลำต้นหรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น นอกจากนี้เกษตรกรควรถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง ที่สำคัญเกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง ใบ ดอก ผลที่เป็นโรค และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

*************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : กันยายน 2566

ข้อมูล: กรมวิชาการเกษตร

ที่มาภาพ: กรมวิชาการเกษตร,กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร