เมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม 2566) นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืชภาคใต้ โดยมีนางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืชภาคใต้ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่ม หัวหน้าฝ่าย เกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ ประเด็นสำคัญในการประชุม มีดังนี้
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (War room) ติดตาม สนับสนุนและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืช มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการกลุ่มแต่ละกลุ่ม รับผิดชอบติดตาม และสนับสนุนงานจังหวัดเป็น 4 เขตพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน จังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดภาคใต้ตอนบน และจัดทำข้อมูลสนับสนุนพื้นที่ ได้แก่ จัดทำคำแนะนำและองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำฝน และ สถานการณ์รายงานการเพาะปลูกพืช สนับสนุนจังหวัดและอำเภอ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังก่อนการเกิดภัยพิบัติ และเร่งแจ้งเตือนเกษตรกร โดยจะจัดส่งข้อมูลให้จังหวัดเป็นรายวัน รายสัปดาห์ ทั้งนี้ พื้นที่ใดที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมเกิน 100 มม. ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้ให้วิเคราะห์สภาพภูมิประเทศแต่ละพื้นที่ด้วยว่ามีการระบายน้ำเป็นอย่างไร เมื่อมีความเสี่ยงก็ให้เจ้าหน้าที่อำเภอลงพื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรโดยด่วน นอกจากนี้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้เจ้าหน้าที่ระดับเขต จังหวัด อำเภอ ผู้รับผิดชอบงานภัยพิบัติด้านพืชซึ่งกำหนดจัดสัมมนาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 โดยประสานวิทยากรจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช กองแผนงาน และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ในการประชุมได้หารือ วิเคราะห์ แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง นโยบาย และมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 ในพื้นที่ภาคใต้ และร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืช ภาคใต้ ซึ่งภาพรวมสถานการณ์ขณะนี้ภาคใต้เข้าสู่ฤดูฝน และฤดูทำนา ทุกจังหวัดได้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และสร้างการรับรู้ เตือนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเพาะปลูกแล้วให้เร่งขึ้นและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน หากเกิดภัยพิบัติก็จะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ต่อไป