
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลังที่ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รณรงค์ให้เกษตรกรใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาด โดยเฉพาะพันธุ์ทนทานต่อโรค ได้แก่ ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 สำหรับการเพาะปลูกหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เนื่องจากเกษตรกรบางรายนิยมนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในรอบการปลูกที่ผ่านมาเพาะขยายในฤดูกาลปลูกใหม่เพื่อบริหารจัดการต้นทุน จึงเกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องหากท่อนพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลก่อนของเกษตรกรติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง



นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันกำจัดโรคอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เช่น กำจัดต้นที่พบโรคโดยสับทั้งต้นนำใส่ถุงพลาสติกสีดำมัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปตากแดด เป็นต้น หรือแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทราบ เพื่อช่วยควบคุมอย่างถูกวิธี ไม่ให้ลุกลามสร้างความเสียหายในวงกว้าง อย่างไรก็ตามเกษตรกรควรปรับเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ทนทานข้างต้น และหยุดการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังพันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ ระยอง 11 และรหัสพันธุ์ 89 ซึ่งมีความเสี่ยง ในการติดโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ง่าย

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนมูลนิธิสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือและวางแนวทางในการควบคุมและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรเจรจาขอความร่วมมือจากมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย (TTDI) ในการสนับสนุนพันธุ์มันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนการวิจัยของ TTDI ว่าเป็นมันสำปะหลังพันธุ์ต้านทานต่อโรคใบด่าง เพื่อนำมาปลูกขยายพันธุ์ในศูนย์ขยายพันธุ์พืชซึ่งอยู่ในภูมิภาคหรือพื้นที่จังหวัดที่มีเกษตรกรเพาะปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วย ชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม สุพรรณบุรี และอุดรธานี ทั้งนี้ TTDI ยินดีให้ความร่วมมือและคาดว่าจะสามารถส่งมอบต้นพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ต้านทานซึ่งใช้เทคโนโลยีการขยายพันธุ์แบบเร่งรัด (X20) ให้แก่กรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 250,000 ต้น ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนและเตรียมพร้อมในการผลิตขยายและกระจายมันสำปะหลังพันธุ์ต้านทานนี้อย่างเป็นระบบ โดยจัดทำแปลงพันธุ์มันสำปะหลังตามมาตรฐานแปลงพันธุ์ในพื้นที่ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 7 แห่งข้างต้น ก่อนส่งมอบท่อนพันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มันสำปะหลังและเกษตรกรภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังที่มีศักยภาพและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดนำไปเพาะปลูกขยายผลในรูปแบบของธนาคารแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาเกษตรกรภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ให้มีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการตรวจคัดกรองแปลงพันธุ์ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการดังกล่าว และตรวจรับรองแปลงพันธุ์โดยคณะกรรมการ อีก 1 ครั้งในช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว หากผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงจะรับรองให้เป็นแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและขยายพันธุ์สู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มทางเลือกและควบคุมไม่ให้เกษตรกรใช้พันธุ์อ่อนแอหรือเสี่ยงต่อการติดโรคใบด่างมันสำปะหลังต่อเนื่อง นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อมันสำปะหลังทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมวางนโยบายงดรับซื้อมันสำปะหลังพันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ ระยอง 11 และรหัสพันธุ์ 89 ในเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทุกพื้นที่เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนไปใช้พันธุ์ทนทานในฤดูการเพาะปลูกรอบใหม่ของตนที่กำลังจะถึง เพื่อป้องกันปัญหาการตลาดและผลกระทบต่อรายได้ในอนาคต

*************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : นาฏสรวง ข่าว, ตุลาคม 2566 ที่มา: สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย และกองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร