กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลสำเร็จโครงการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน ปีงบประมาณ 2566

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่ากรมส่งเสริมการเกษตรได้สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และเสริมสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม โดยในปีงบประมาณ 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน ให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ผ่าน 3 กิจกรรม ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินงานมีดังนี้

กิจกรรมที่ 1 การขับเคลื่อนงานส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน ส่งผลให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจด้านความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือน/ชุมชน และ Future Food ทราบทิศทาง นโยบายหลักการ และวิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่ สามารถวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

กิจกรรมที่ 2 การส่งเสริมการสร้างความมั่นคงด้านอาหารเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน ส่งผลให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร พื้นที่ ชุมชน มีแผนการสร้างความมั่นคงด้านอาหารเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน เกิดแหล่งอาหารเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกรให้มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ ลดความยากจนในครัวเรือนและชุมชน ช่วยลดรายจ่ายเฉลี่ยให้สมาชิกและชุมชน 970 บาท/เดือน/ราย และมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1,500 บาท/เดือน/ราย เกษตรกรมีความมั่นคงด้านอาหารหลังเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ในระดับดี – ดีมาก โดยเกษตรกรมีแหล่งอาหารไว้บริโภคภายในครัวเรือนจากการปลูกพืชผักสวนครัว พืชไร่ พืชสวน ไม้ผล ไม้ดอก พืชสมุนไพร เลี้ยงสัตว์และประมง แปรรูปอาหาร เป็นต้น อีกทั้งมีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การผลิตปุ๋ย เกิดแหล่งผลิตอาหารในครัวเรือนและชุมชน จำนวน 77 จุด มีพื้นที่ในการผลิตอาหารรวมทั้งสิ้น จำนวน 683.05 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่แปลงรายบุคคล จำนวน 595.2 ไร่ จากสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 1,239 ราย และพื้นที่แปลงรวม จำนวน 121 แปลง พื้นที่ 87.85 ไร่ รวมทั้งมีการใช้ในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและคนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถผลิตอาหารให้กับครัวเรือนและชุมชนได้อย่างน้อย 329.14 ตัน/ปี นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ผลผลิตจากแหล่งอาหารที่เกิดขึ้น ร้อยละ 65 มีการแบ่งปันผลผลิตในชุมชน ร้อยละ 34 นำมาบริโภคภายในครัวเรือน ร้อยละ 11 นำผลผลิตจำหน่าย สร้างรายได้ ร้อยละ 8 และนำผลผลิตส่วนหนึ่งไปใช้จัดเลี้ยงให้แก่คนในชุมชน จำนวน 3,443 คน เกิดครัวเรือนขยายผลการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชนไปยังเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 327 ครัวเรือน ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมการผลิตอาหารในครัวเรือนช่วยสร้างงานและรายได้สำหรับสมาชิกและชุมชนในชุมชน การเพิ่มรายได้เฉลี่ย และการจัดเลี้ยงให้คนในชุมชนในระบบเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 ช่วยเพิ่มคุณค่าในชุมชน ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม ลดการนำเข้าอาหารจากภายนอกและลดรายจ่ายในครอบครัว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมที่ 3 คือ การส่งเสริมการสร้างแหล่งผลิตอาหารคุณภาพเพื่อสร้างรายได้ระดับชุมชนช่วยสร้างรายได้ระดับชุมชนและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสร้างและบริหารจัดการแหล่งผลิตอาหารคุณภาพ เกิดความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในระดับดีมาก เกิดเป็นแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนให้เติบโตและพัฒนาในทางที่ยั่งยืนในระยะยาว ส่งผลให้ชุมชนมีอาหารเพียงพอ ร้อยละ 71 เกิดการเข้าถึงอาหาร ร้อยละ 71ใช้ประโยชน์จากอาหาร ร้อยละ 72 และมีเสถียรภาพทางอาหาร ร้อยละ 65 เกิดครัวเรือนต้นแบบด้านความมั่นคงด้านอาหาร จำนวน 330 ครัวเรือน และครัวเรือนขยายผล จำนวน 375 ครัวเรือน เกิดแหล่งผลิตอาหารและสร้างรายได้ในระดับชุมชน จากการปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเห็ด แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และอื่น ๆ เกิดแหล่งอาหารและรายได้ ทั้งในรูปแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม โดยรายบุคคลมีรายได้รวมจากกิจกรรมการเกษตรมากกว่า 1.3 ล้านบาทต่อปี และมีพื้นที่แหล่งอาหารประมาณ 642 ไร่ รายกลุ่มมีพื้นที่แหล่งอาหารรวมกันประมาณ 98 ไร่ และผลผลิตรวมประมาณ 840 ตัน มีการบริหารจัดการผลกำไรจากกิจกรรมการเกษตรที่สร้างรายได้ โดยมีการแบ่งผลกำไรเข้ากองทุนกลุ่ม ร้อยละ 34.8 และแบ่งผลกำไรให้กับสมาชิกกลุ่ม ร้อยละ 11.5 เกิดการเก็บสำรองเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในการปลูกในอนาคต ช่วยสร้างรายได้รวมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 118,560 บาทต่อเดือน และครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1,700 บาทต่อเดือน