นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบาย ติดตามขับเคลื่อนการบริหารนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง (500 ตำบล
นำร่อง) ซึ่งมีคณะทำงานแยกตามกลุ่มสินค้า จำนวน 3 คณะทำงานย่อย ประกอบไปด้วย กลุ่มสินค้าด้านพืชและบริการมูลค่าสูง กลุ่มสินค้าด้านประมง และกลุ่มสินค้าด้านปศุสัตว์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกลุ่มสินค้าด้านพืชและบริการมูลค่าสูง โดยใช้กลไกการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผลักดันให้เกิดตำบลเกษตรมูลค่าสูงนำร่อง 500 ตำบล และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ในปี 2570
สำหรับกรอบการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (นำร่อง 500 ตำบล) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก 100 ตำบล ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีการส่งออก มีการรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือ กลุ่มเครือข่าย Smart Farmer, Young Smart Farmer และเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานส่งออก โดยกลุ่มนี้จะมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ การขยายตลาดและขยายฐานการผลิตในการส่งออก กลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 100 ตำบล ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีการรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือ กลุ่มเครือข่าย Smart Farmer, Young Smart Farmer ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการส่งออกหรือแปรรูป เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ข้าว กาแฟ เป็นต้น โดยกลุ่มนี้จะมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูป (ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าให้สูงขึ้น) และกลุ่มที่ 3 กลุ่มสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ 300 ตำบล ซึ่งมีการผลิตและบริหารจัดการโดยกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือ กลุ่มเครือข่าย Smart Farmer, Young Smart Farmer มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น เป็นสินค้า GI สมุนไพร เกษตรอินทรีย์ Functional food, Plant based เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องเป็นสินค้าสะท้อนเอกลักษณ์และเสน่ห์ของชุมชน มีแหล่งท่องเที่ยวหรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจชุมชนได้ โดยกลุ่มนี้จะมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น
“สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานภายในกับหน่วยงาน ด้านพืช คือ กรมการข้าว และกรมหม่อนไหม ให้คัดกรองกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ยกระดับ (ปีดำเนินการ 2559 – 2563) ที่มีศักยภาพตรงตามกรอบกลยุทธ์การขับเคลื่อน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ 2) พัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานรองรับ 3) สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า 4) เชื่อมโยงการตลาดและการตลาด เพื่อนำมาเข้าร่วมดำเนินการในกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก เป้าหมาย 100 ตำบล โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้คัดเลือก 46 ตำบล ที่มีศักยภาพเข้าร่วม แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และแมลงเศรษฐกิจ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายจะร่วมกันบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ (ตำบล) โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาส วางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของกลุ่มเกษตรกร เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ การบริหารงาน และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในเข้มแข็งตามหลักเจตนารมณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” อย่างยั่งยืนต่อไป