นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินงานโครงการพะเยาโมเดลสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสินค้าเกษตร และนำร่องเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดพะเยาต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดให้กาแฟปางปูเลาะ อำเภอแม่ใจ เป็น 1 ใน 6 ชนิดพืชที่ดำเนินการนำร่องในพื้นที่อำเภอแม่ใจ โดยเน้นขับเคลื่อนนโยบายยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ด้วยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟคุณภาพบ้านปางปูเลาะ ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยตั้งเป้าที่จะยกระดับประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ ให้ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ (GAP) เพิ่มผลผลิต (เชอรี่) ต่อไร่จากเดิม เป็น 500 – 600 กิโลกรัมต่อไร่ ยกระดับคุณภาพผลผลิต ให้ได้มาตรฐานสินค้าเกษตร : เมล็ดกาแฟอะราบิก้า เช่น สีตรงกระบวนการผลิตของเมล็ดกาแฟ ความชื้นไม่เกิน 12.5 % โดยมวล ไม่พบร่องรอยการทำลายเมล็ดกาแฟจากแมลง เมล็ดมีราดำ เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการทำการตลาดการซื้อขายล่วงหน้า และกำหนดราคาตามชั้นคุณภาพ
กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้นโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็น กลยุทธ์ในการพัฒนา โดยการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ การตรวจสอบปริมาณสารกาแฟ และคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพกาแฟ การตรวจวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การตัดแต่งต้นกาแฟ (ทำสาว) สำหรับต้นกาแฟอายุมากและให้ผลผลิตลดลง เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของกาแฟ การเฝ้าระวังโรคแมลงศัตรูพืชและการใช้ชีววิธีในการป้องกันและกำจัด โรค และแมลงศัตรูพืช เช่น มอดเจาะเมล็ดกาแฟ ราดำ มวนยุง เป็นต้น ส่วนด้านการตลาด จะดำเนินการส่งเสริมการทำการตลาดการซื้อขายล่วงหน้า และกำหนดราคาตามชั้นคุณภาพ การส่งเสริมการสร้างคู่ค้าใหม่ที่เป็นองค์กรธุรกิจ/สถาบันเกษตรกร โดยระบบเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Future Markets) ที่มีเงื่อนไขกำหนดราคาเมล็ดกาแฟตามชั้นคุณภาพ การส่งเสริมการสร้างทักษะการเป็นบาริสต้าให้เยาวชนของหมู่บ้าน และการสร้างแบรนด์สินค้ากาแฟชุมชนปางปูเลาะ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นกาแฟที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับบ้านปางปูเลาะ ปัจจุบันมีพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอยู่ 34 ครัวเรือน โดยเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชน 20 ราย มีผลผลิตรวมปีละ 88 ตัน โดยมีประเด็นที่จะต้องพัฒนา 2 ประเด็น ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางให้หลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย
ประเด็นแรก คือ ด้านการผลิต กาแฟปางปูเลาะเป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่มีคุณภาพดีในระดับหนึ่ง แต่สามารถยกระดับคุณภาพได้โดยการพัฒนาให้เป็นกาแฟ specialty มีลักษณะเฉพาะรสชาติและกลิ่นผลไม้ (fruity) เช่น การทำให้มีความหอมปลายเป็นกลิ่นลิ้นจี่มากขึ้น ซึ่งอำเภอแม่ใจมีสินค้าเกษตรที่ขึ้นชื่ออีกชนิด คือ ลิ้นจี่แม่ใจ ก็จะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับอำเภอแม่ใจ และกาแฟปางปูเลาะได้ การพัฒนาให้เป็นกาแฟ specialty จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับกาแฟปางปูเลาะและมีโอกาสเข้าสู่ตลาด premium ได้
ประเด็นที่สอง คือ ด้านการตลาด ปัจจุบันเกษตรกรสามารถขายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือพ่อค้ารถเร่ ที่เข้ามารับซื้อในช่วงเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ในราคาที่พึงพอใจ แต่กาแฟปางปูเลาะยังสามารถพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก เช่น การขายแบบคัดเกรด 1 – 3 จะทำให้ได้ราคาเพิ่มมากขึ้นตามระดับคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การสร้างและเรียบเรียงเรื่องราว (story) ของกาแฟปางปูเลาะก็จะช่วยสร้างความต่าง และอัตลักษณ์เฉพาะได้อีกทางหนึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาร่วมกันทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับกาแฟปางปูเลาะ มีความโดดเด่น เป็นที่จดจำ และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ