กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนสำรวจแปลงมันสำปะหลัง ก่อนไรแดงมาเยือน

           กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเชิญชวนเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกทุกชนิดพืชอยู่เสมอ เพื่อควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนเกิดการระบาดรุนแรง สำหรับแปลงมันสำปะหลัง ขอให้เฝ้าระวังการระบาดของไรแดงมันสำปะหลัง โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหลืองซีดเป็นจุดประขาว มีผลต่อการเจริญเติบโต และการสร้างหัวของมันสำปะหลัง

            สำหรับไรแดงที่พบทำลายมันสำปะหลังมี 3 ชนิด คือ 1. ไรแดงหม่อน (Tetranychus truncatus (Ehara)) ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบ ทำลายใบแก่และใบเพสลาด พบระบาดตลอดปี หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น เมื่อไรแดงหม่อนเริ่มทำลายจะเห็นเป็นจุดประขาว ใบเหลืองซีด ใบลู่ลง และเหี่ยวแห้ง หากไรแดงหม่อนลงทำลายในมันสำปะหลัง อายุ 1-3 เดือน อาจทำให้ใบร่วง ยอดแห้ง และตายได้ 2. ไรแดงมันสำปะหลัง (Oligonychus biharensis (Hirst)) ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหน้าใบ ไม่สร้างเส้นใย ทำให้ใบเป็นจุดประสีขาวซีด พบระบาดตลอดปี 3. ไรแมงมุมคันซาวา (Tetranychus kanzawai (Kishida)) ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ สร้างเส้นใยปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัยอยู่ หากระบาดรุนแรงมาก จะทำให้ใบไหม้ ขาดเป็นรู โดยเฉพาะบริเวณใกล้เส้นกลางใบ ทำให้ใบมันสำปะหลังไหม้ทั้งแปลง ใบร่วง และแห้งตาย           

            ส่วนการป้องกันกำจัด ขอย้ำเตือนให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูก โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง หลังช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ถ้าพบการระบาดของไรแดง ขอให้เกษตรกรเก็บใบมันสำปะหลังมาทำลาย แจ้งเตือนพื้นที่ปลูกข้างเคียง และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อร่วมกันป้องกันและหาทางทำลาย ไม่ให้ขยายไปในวงกว้าง อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลง เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถพ่นสารป้องกันกำจัดไรเมื่อพบไรแดงเข้าทำลายบริเวณใบส่วนยอด และใบส่วนล่างเริ่มแสดงอาการเหี่ยวโดยเฉพาะพืชยังเล็ก โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งในอัตราที่กำหนด ได้แก่ เฮกซีไทอะซอกซ์ 1.8% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ ทีบูเฟนไพแรด 36% EC อัตรา 5 – 10 มิลลิลิตร หรือ ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 – 15 กรัม หรือ  ไซฟลูมิโทเฟน 20% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร หรือ เฟนบูทาติน ออกไซด์ 55% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร แล้วผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น ใต้ใบ และบนใบ จำนวน 1 – 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน