นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในรอบปีฤดูกาลที่นิยมเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำผึ้งจากผึ้งและชันโรง จะดำเนินการในช่วงที่มีดอกไม้บานคือตั้งแต่ปลายปีไปจนเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนในเดือนเมษายน ซึ่งจะได้น้ำผึ้งจากดอกไม้และผลไม้ที่ออกดอกในเดือนที่แตกต่างกัน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งหลากหลายชนิด ได้แก่ น้ำผึ้งจากดอกไม้ป่าหรือดอกสาบเสือ น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ น้ำผึ้งดอกลำไย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประชากรผึ้งและชันโรงที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 25 – 30 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพัฒนาของดักแด้จนไปถึงตัวเต็มวัยไม่แข็งแรงได้ ทำให้ประชากรภายในรังน้อยลง เกิดการล่มสลายของรังผึ้งและชันโรงได้ ดังนั้น ในช่วงมกราคม – มีนาคม เป็นช่วงที่อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น เกษตรกรจึงควรติดตามตรวจสอบสภาพอากาศ คาดการณ์การเกิดภัยในพื้นที่วางรังผึ้ง และบันทึกน้ำหนักรัง เพื่อวางแผนการตั้งรัง สถานที่ตั้ง การเคลื่อนย้ายรัง การดูแลและเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งให้ได้ประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการดูแลผึ้งและชันโรงในช่วงฤดูแล้ง จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยด้านการป้องกันภัยภายนอก คือสถานที่ตั้งกล่องรังผึ้งหรือชันโรง ควรวางไว้ในที่ร่ม หรือมีหลังคาปิดด้านบนรัง เพื่อป้องกันแสงแดดเพิ่มอุณหภูมิภายในรังซึ่งทำให้ถ้วยน้ำผึ้งและเกสรภายในรังละลายได้ หากพบผึ้งตายผิดปกติให้รีบปิดรัง และช่วยระบายความร้อนโดยใช้ตะแกรงมุ้งลวดปิดทางเข้าออกแทนฝาครอบรัง และใช้กระสอบป่านหรือผ้าชุ่มน้ำห่อหุ้มรังตลอดเวลากลางวัน ถัดมาคือปัจจัยด้านอาหาร ซึ่งสถานที่ตั้งรังจำเป็นต้องมีแหล่งอาหารและน้ำเพียงพอสำหรับผึ้งและชันโรงด้วย เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งมักขาดแคลนน้ำและพืชอาหารในธรรมชาติ เกษตรกรจึงควรจัดเตรียมแหล่งน้ำสะอาด และหากมีการเลี้ยงผึ้งและชันโรงจำนวนมาก ควรปลูกพืชอาหารเสริมที่โตง่าย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี เช่น พืชตระกูลแตง ผักโขม ข้าวโพด ทานตะวัน เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้กับประชากรในรังผึ้งและชันโรงที่เลี้ยงไว้ สุดท้ายคือปัจจัยด้านการป้องกันภัยภายใน คือเกษตรกรควรหมั่นตรวจดูสภาพรังเลี้ยงผึ้งและชันโรงอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูการถูกรบกวนจากศัตรู ตรวจดูปริมาณการเจริญเติบโต สภาพความสมบูรณ์ของรัง ถ้าพบศัตรูของผึ้งและชันโรง เช่น นก ต่อ มด เป็นต้น ควรเคลื่อนย้ายรังไปที่ตั้งใหม่
สำหรับการเก็บน้ำผึ้ง ในผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรงที่มีคอนเลี้ยงผึ้ง เกษตรกรควรเลือกเฉพาะคอนน้ำผึ้งที่ปิดฝาหลอดรวงแล้ว 30-70 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้แปรงปัด หรือเขย่า ให้ผึ้งหลุดออกจากคอนให้หมด และใช้มีดปาดฝาหลอดรวงออก นำคอนผึ้งใส่ในถังสลัดน้ำผึ้ง และเหวี่ยงจนน้ำผึ้งหมดหลอดรวง ส่วนผึ้งโพรงที่เลี้ยงโดยไม่ใช้คอนเลี้ยงผึ้ง ให้ใช้มีดตัดรวงผึ้งออกจากรังโดยจะต้องเหลือรวงผึ้งไว้ในรัง 3 – 4 รวง เพื่อเป็นอาหารให้ผึ้งงานสร้างรวงใหม่นำรวงผึ้งที่ตัดออกมาสับบนตะแกรงให้น้ำผึ้งไหลลงในถังสแตนเลส ไม่ควรบีบด้วยมือ หรือคั้นรวงผึ้ง เพราะจะทำให้เศษผงหรือชิ้นส่วนของรวงผึ้ง และตัวอ่อนผึ้งผสมลงไป ด้านการเก็บน้ำผึ้งจากชันโรง ชันโรงพันธุ์ตัวเล็กสามารถใช้มีดตัดกลุ่มถ้วยน้ำผึ้งได้ แต่ควรระวังไม่ให้มีถ้วยเกสรผึ้งปะปน ใช้ช้อนส้อมแทงกระเปาะน้ำผึ้งให้แตก และปล่อยน้ำผึ้งให้ไหลตามธรรมชาติลงในภาชนะสแตนเลสที่เตรียมไว้ แต่ชันโรงพันธุ์ตัวใหญ่ ให้ใช้แท่งเขี่ยสแตนเลสปลายแหลมเปิดปากถ้วยน้ำผึ้ง จุ่มปลายสายยางลงในถ้วยน้ำผึ้งแล้วใช้เครื่องดูดน้ำผึ้งออกมา ทั้งนี้ ทุกกระบวนการเก็บน้ำผึ้งเกษตรกรต้องแต่งกายมิดชิด และคำนึงถึงความสะอาด เมื่อเก็บน้ำผึ้งได้แล้วให้นำน้ำผึ้งที่ได้มากรองผ่านตะแกรงหยาบ และละเอียด เพื่อกรองเศษไขผึ้งและตัวผึ้งออก จากนั้นใส่ถังบ่มทิ้งไว้ 15 วัน ให้เศษไขผึ้งและผงละเอียดลอยขึ้นด้านบนแล้ว จึงจะได้น้ำผึ้งที่สะอาดและบริสุทธิ์สามารถนำไปบรรจุในภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร พร้อมนำไปจำหน่ายต่อไป ทั้งนี้ หากเกษตรกรสนใจ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ตามช่องทางโทรศัพท์ กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลข 0 2940 6102
***************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว มกราคม 2567
ที่มา : สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร