กรมส่งเสริมการเกษตร ออกโรงแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่อยู่ในระยะพัฒนาผล เฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งเกิดจากผีเสื้อกลางคืนวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนผลทุเรียนในขณะที่ผลยังอ่อน จากนั้นตัวหนอนที่ฟักออกจะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผล การเข้าทำลายจะสังเกตรอยเจาะของหนอนได้ยาก เนื่องจากมีขนาดเล็กมากและเปลือกทุเรียนที่กำลังขยายจะปิดรูเจาะ หนอนเจริญเติบโตอยู่ภายในผล กัดกินเมล็ดเป็นอาหาร ถ่ายมูลออกมาทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย และอาศัยอยู่ในผลทุเรียนจนกระทั่งผลแก่ เมื่อหนอนโตเต็มที่หรือถ้าผลร่วงก่อน หนอนจะเจาะรูขนาดประมาณ 5 – 8 มิลลิเมตร ออกมาและเข้าดักแด้ในดิน ผีเสื้อตัวเต็มวัยที่ออกจากดักแด้ภายในหนึ่งเดือน อาจจะเข้าทำลายทุเรียนรุ่นหลังในปีเดียวกันได้ หรืออาจจะออกจากดักแด้ในปีถัดไป โดยมีฝนในช่วงต้นปีเป็นตัวกระตุ้นให้ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด เกษตรกรสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- ไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากอื่นเข้ามาปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวังหรือแช่เมล็ดด้วยสารกำจัดแมลง เช่น มาลาไทออน 83% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือคาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร
- ห่อผลระยะยาวโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นขนาด 40 x 75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำ สามารถป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไปจนถึงเก็บเกี่ยว
- การป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน โดยพ่นสารกำจัดแมลง ได้แก่ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% CS อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือคาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ และห่อด้วยถุงพลาสติกขาวขุ่นขนาด 40 x 75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำ เมื่อผลอายุ 10 สัปดาห์
- การใช้กับดักแสงไฟโดยใช้หลอด black light เพื่อล่อตัวเต็มวัยหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมาทำลาย
- การป้องกันกำจัดโดยใช้สารกำจัดแมลง เมื่อพบตัวเต็มวัยเริ่มระบาดให้ใช้สารคาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือเดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 15 มิลลิลิตร หรือแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% CS อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน