กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งพัฒนาเกษตรกรทุกช่วงวัย สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรสูงวัยกับเกษตรกรรุ่นใหม่

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรทุกช่วงวัย ให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาต่อยอดสู่ผู้ประกอบการเกษตร มีรายได้เพิ่ม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องตามนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และผู้ประกอบการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรได้สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรสูงวัยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ในการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตรผ่าน “โครงการส่งเสริมเคหกิจเกษตรในครัวเรือนเกษตรสูงวัย และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การส่งเสริมเกษตรกรสูงวัยและเกษตรกรรุ่นใหม่ กรณีศึกษากลุ่มสินค้าผ้าทอ” ส่งผลให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดลับและกลเม็ดการออกแบบผ้าทอจากเกษตรกรสูงวัย ฝึกการวาดแบบลายผ้า กำหนดขนาดก่อนลงมือทำ เกิดความผิดพลาดในการทำผ้าทอลดลง ตลอดจนเกษตรกรรุ่นใหม่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจของตนเอง นำนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบ ผลิตสินค้าได้รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของตลาด มีการจดลิขสิทธิ์ลายผ้า สร้างจุดขายผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนผ่านลายผ้า (storytelling) ทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ช่วยให้ขายสินค้าได้มากขึ้น มีลูกหลานเกษตรกรรุ่นใหม่กลับภูมิลำเนาไปอยู่บ้านดูแลพ่อ-แม่ได้มากขึ้น ครอบครัวกลับมาอบอุ่นดังเดิมและเกิดธุรกิจเกษตรแนวใหม่ขึ้นในชุมชน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ อีกหนึ่งความสำเร็จของการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรสูงวัยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ ดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและได้รวมกลุ่มกันผลิตผ้าทอมัดหมี่ ควบคู่กับการทำเกษตรกรรม สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนเกษตรจากการขายผ้าทอให้นักท่องเที่ยว โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำผ้าทอจากเกษตรสูงวัย และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ เพิ่มจากลายผ้าดั้งเดิม จนได้ลายผ้าทอที่สวยงามและมีความทันสมัยมากขึ้น เช่น ลายน้ำพุนาคราช 1 ลายน้ำพุนาคราช 2 ช่วยเพิ่มมูลค่าจากลายผ้าดั้งเดิม ราคาขายผืนละ 700-900 บาท แต่ลวดลายอัตลักษณ์ที่เกษตรกรรุ่นใหม่ออกแบบร่วมกันกับเกษตรกรสูงวัย สามารถขายได้ถึงผืนละ 1,200 – 1,500 บาท ช่วยสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,200 บาท/ครัวเรือน/เดือน

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเกษตรกรสูงวัยและเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 58 ราย ได้รับการถ่ายทอด และเชื่อมโยงเครือข่าย จนเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาอาชีพการเกษตร รวมทั้งเป็นแกนนำในการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรสูงวัยและเกษตรกรรุ่นใหม่ ขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป