นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มเป้าหมายงานส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรกร สามารถผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้น สู่การเกษตรที่ยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดผลสำเร็จ ภายใต้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เน้นการส่งเสริมพัฒนาทักษะเกษตรกร ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก พฤกษศาสตร์ (Plant Science) เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) และ เทคโนโลยีหมุนเวียน (Circular Technology) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สำหรับแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกกลุ่มแปลงใหญ่ ที่สมาชิกมีความเข้มแข็ง มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
กลุ่มแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง มีสมาชิก 124 ราย พื้นที่ 5,217 ไร่ มีการบริหารจัดการแปลงและนำเทคโนโลยี 4 ป +1 IPM มาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนี้
- การปรับระดับหน้าดิน เป็นการปรับระดับพื้นที่นาข้าวด้วยระบบแสงเลเซอร์ เพื่อเกลี่ยหน้าดินให้มีความสูง – ต่ำ ราบเรียบเสมอกันทั้งแปลง ซึ่งเมื่อหน้าดินอยู่ในระดับเดียวกันจะทำให้ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาได้ง่าย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ลดจำนวนวัชพืช และประหยัดน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวได้ 30 – 50 % ผลผลิตและคุณภาพข้าวดีขึ้น
- การทำเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า โดยการปล่อยน้ำขังในแปลงนาในระยะที่ข้าวต้องการน้ำมาก และระบายน้ำออกในช่วงที่ข้าวต้องการน้ำน้อยช่วยให้ระบบรากข้าวแข็งแรง มีการแตกกอดี ทำให้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น ช่วยประหยัดน้ำได้สูงสุด 50 % และลดค่าเชื้อเพลิงในการสูบน้ำได้สูงสุด 30 % อีกทั้งยังลดการระบาดของแมลง และลดการเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกได้
- การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการจัดการธาตุอาหารในนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยที่ไม่จำเป็น รวมถึงส่งผลให้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น เป็นการฟื้นฟูทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น และลดการเกิดก๊าซไนทรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน
- การแปรสภาพฟางและตอซังข้าว เป็นการจัดการฟางและตอซังข้าวโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ไถกลบตอซังฟางข้าว หรือทำการอัดฟางข้าว เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาทำลาย การไม่เผาฟางและตอซังข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ธาตุไนโตรเจน (N) 8 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส (P) 1 กิโลกรัม และโพแทสเซียม (K) 21 กิโลกรัม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยและเป็นการเพิ่มปุ๋ยได้อีกด้วย
สำหรับการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (IPM) เป็นการจัดการศัตรูพืชโดยใช้วิธีการที่หลากหลายร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกัน ควบคุมปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นวิธีการควบคุมศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประหยัดต้นทุนและปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี โดยใช้สารชีวภัณฑ์ ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายในเรื่องของสารเคมีและส่งผลดีในระยะยาว เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จุดเด่นของกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง คือ มีการใช้เทคโนโลยี 4 ป.+ 1IPM ในการผลิตข้าวลดโลกร้อน ทำให้สมาชิกจำนวน 5 ราย พื้นที่ 133 ไร่ สามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้คิดเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท โดยในรอบฤดูกาลผลิตปัจจุบัน สมาชิกจำนวน 124 ราย พื้นที่ 5,217 ไร่ สามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้ อีกทั้งยังมีการจัดทำแปลงเรียนรู้ด้านการผลิตข้าวลดโลกร้อน การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต มีแปลงสาธิตการทำนาแบบรักษ์โลก และแปลงต้นแบบ ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น แปลงต้นแบบการไถกลบตอซังและน้ำหมักชีวภาพ แปลงต้นแบบการใส่ปุ๋ยเฉพาะจุด 20 จุด แปลงต้นแบบการใช้ชีวภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีแปลงเพื่อใช้ทำการศึกษาวิจัยทางด้านข้าว เช่น แปลงวิจัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแปลงวิจัยการเก็บเกี่ยวข้าว กข 43 ในระยะที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบ และแหล่งเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเดิมบาง และบุคคลอื่น ๆ ที่สนใจ
“แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ตั้งเป้าจะพัฒนาและส่งเสริมสมาชิกใช้เทคโนโลยี 4 ป +1 IPM และสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ครบทุกราย ถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและมีทักษะ ESG Literacy for Resilience: Environment Social Governance หรือ ความรู้ ความตระหนัก ความเข้าใจถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Skills) ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต (เกษตรกร) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน นับได้ว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งยังมีแผนระยะยาวที่จะส่งเสริมให้สมาชิกใช้แผนที่ และ Application ของ GISTDA ในการทำเกษตรแม่นยำสูง เพื่อช่วยบริหารจัดการพื้นที่ปลูกตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว และการยกระดับการผลิตข้าวแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตั้งแต่กระบวนการผลิต การตลาดจนถึงกระบวนการแปรรูปและจำหน่าย โดยกลุ่มแปลงใหญ่ สมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง เป็นผู้ประกอบการตลอดทั้งกระบวนการ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย