นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการ
ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน
โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจชุมชนผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่ ส่งเสริมให้สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้
ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม ต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปใหม่ ๆ
ให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตและจัดทำแผนการผลิตในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ จนสามารถผลักดันและส่งเสริมให้ผลไม้อัตลักษณ์ที่หลากหลาย โดดเด่นในเรื่องรสชาติ คุณภาพ และมีเรื่องราว (Story) เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มั่นคง สอดคล้องกับความเป็นอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถพัฒนายกระดับเพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indications) ปัจจุบันมีผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้วจำนวนไม่น้อยกว่า 28 ชนิด จาก 40 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการ ช่น ทุเรียนจันท์ จังหวัดจันทบุรี ขนุนหนองเหียง จังหวัดชลบุรี ลิ้นจี่แม่ใจ จังหวัดพะเยา ส้มแม่สิน จังหวัดสุโขทัย ส้มโอทับทิมสยาม จังหวัดนครศรีธรรมราช ทุเรียนสาลิกา จังหวัดพังงา ทุเรียนทะเลหอย จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
“ผลไม้พื้นถิ่นซึ่งเป็นผลไม้ในกลุ่มรองก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กัน ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายในประเทศสูง มีตลาดเฉพาะ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่และเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่ขึ้นมาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (story) ที่ทำให้สินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่น ๆ มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จึงได้จัดงาน ประชาสัมพันธ์เปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ต้นแบบ โครงการเปิดฤดูกาลไม้ผลอัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริม การเกษตรขึ้น ณ สวนนวลทองจันท์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ภาคตะวันออก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคให้หันมาบริโภคสินค้าผลไม้อัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และสร้างเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานขับเคลื่อนผลักดันสินค้าผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าผลไม้อัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก ให้เกษตรกรในชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้า โดยในงานมีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การเสวนา หัวข้อการส่งเสริมผลไม้อัตลักษณ์ของไทยให้ก้าวไกลและเพิ่มมูลค่า กิจกรรมให้ความรู้ การสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลไม้อัตลักษณ์ นิทรรศการผลไม้อัตลักษณ์ 9 จังหวัดภาคตะวันออกเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตรในรูปแบบเดิมสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สอดคล้องกับนโยบายหลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การสาธิตการแปรรูปอาหารจากผลไม้อัตลักษณ์ภาคตะวันออก และพิธีมอบรางวัลการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่น ระดับเขต ประจำปี 2567
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการใน 4 ชนิดสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จังหวัดพิษณุโลก ทุเรียนในวงระนอง จังหวัดระนอง ทุเรียนจันท์ จังหวัดจันทบุรี และทุเรียนหมอนทองระยอง จังหวัดระยอง เพื่อนำผลการศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จนี้ไปใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานโครงการ และขยายผลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป