นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่ “ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา นั้น รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ดำเนินการจัดกิจกรรมสงกรานต์เป็นไปอย่างเรียบร้อยและสร้างสรรค์ เน้นเผยแพร่คุณค่าสาระ ความงามของประเพณีให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วม อย่างถูกต้องและเหมาะสม มีความสุขร่วมกันตลอดเทศกาล ซึ่งประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่และจัดกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและชุมชน จะมีการซื้อหาของกินของใช้เพื่อนำไปมอบให้กับญาติมิตร รวมถึงใช้ในกิจกรรมทางศาสนาด้วย
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเลือกซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดี ฝีมือเกษตรกรตัวจริง มอบแก่ญาติมิตร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีสินค้าด้านการเกษตรที่เหมาะสำหรับเป็นของขวัญของฝากจำนวนมาก สามารถเลือกซื้อได้ตามความสะดวก ทั้งแบบช่องทางออฟไลน์ คือ ตลาดสดทั่วไป ตลาดเกษตรกร 70 จังหวัด และศูนย์เรียนรู้บริหารจัดการสินค้าเกษตร (ตลาดเกษตรกรถาวร) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ลำปาง พิจิตร ราชบุรี กาญจนบุรี เชียงราย และจังหวัดกระบี่ หรือช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย เพียงคุณสั่ง เราพร้อมส่ง” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมสินค้าการเกษตรคุณภาพหลากหลายชนิด อาทิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลไม้ตามฤดูกาล ผักปลอดสารพิษ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ไม้ดอกไม้ประดับ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากธรรมชาติ ชุดผ้าไทย ผ้าไหม ผ้าทอมือ ผ้าย้อมคราม สินค้าหัตถกรรมสิ่งประดิษฐ์ และอื่น ๆ ปัจจุบันมีสินค้าเกษตรรวบรวมอยู่บนเว็บไซต์รวมจำนวนกว่า 2,557 รายการ และมีสินค้าชวนซื้อให้ชุ่มฉ่ำใจต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอมสดพร้อมดื่ม ปลาสลิดแดดเดียว ผ้าขาวม้า ครีมกันแดดมะพร้าวผสมรองพื้น Coco Dance Coconut Oil Sun Protection Cream แป้งฝุ่นผสมทานาคา เป็นต้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการสนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งดำเนินการจัดตั้ง “ตลาดเกษตรกร” ตั้งแต่ปี 2558 โดยให้เกษตรกรผู้ผลิตเป็นผู้จำหน่ายสินค้าด้วยตนเองแบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจำหน่ายอย่างทั่วถึง เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้พบปะกับผู้บริโภคโดยตรง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตให้สินค้ามีคุณลักษณะและปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ในขณะที่ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ส่งผลให้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตนเองได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นวิถีดำเนินการที่สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี และเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีมูลค่าจากการจำหน่ายสินค้ารวมกว่า 1.7 พันล้านบาท
จากนั้น ในปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการต่อยอด ตลาดเกษตรกร เปิดเป็น เว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อแก้ไขปัญหาด้านตลาดสินค้าเกษตรในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 และให้สอดคล้องกับตลาดออนไลน์ในยุคปัจจุบันที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยส่งเสริมเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ได้มีช่องทางประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ โดยมีเว็บไซต์เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภค รับทราบและสามารถเลือกซื้อสินค้าโดยตรงจากแหล่งผลิตได้ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ทั้งนี้ มูลค่าจากการจำหน่ายสินค้าสะสมของเกษตรกร ที่ดำเนินการตั้งแต่เปิดตัวเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2567 มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.1 พันล้านบาท และขณะนี้มีเกษตรกรเป็นสมาชิกเว็บไซต์รวมจำนวน 1,893 ราย และยังเปิดรับสมัครเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการและจำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรออนไลน์.com ที่เมนู “สมัครเข้าร่วมโครงการ” หรือสามารถศึกษาคู่มือการสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com/doc/2024-manual.pdf
************************************
กลุ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : ข่าว
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร: ข้อมูล