นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของชุมชน จากสภาพปัญหาการใช้สารเคมีในการผลิตผักและผลไม้ รวมถึงการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีแนวคิดในการผลิตผักแบบอินทรีย์เพื่อลด ละ เลิก การใช้สารเคมีและเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิต ปัจจุบัน ศพก.อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ โดยการผลิตผักในโรงเรือนที่ควบคุมด้วยระบบการให้น้ำแบบอัจฉริยะ (HandySense) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) จากมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย (มกอท.) และได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร ในด้านตลาดมีตลาดจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบหน้าร้าน (Offline) และกลุ่มลูกค้าเฉพาะ (VIP) แบบ Online จะเห็นได้ว่า ศพก.อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้วมีการยกระดับและพัฒนา ศพก. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรสอดคล้องตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในปี 2565 ศพก. อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำสูง คือ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)” เป็นระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตร และระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างน้อยร้อยละ 20 จากการลดต้นทุนผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสู่การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยทาง ศพก. อำเภอเมืองสระแก้วได้เริ่มทดลองใช้ HandySense ในโรงเรือนต้นแบบแปลงปลูกกะหล่ำปลี 2 รอบการผลิต พบว่า ได้ผลผลิตดีตามความต้องการ ช่วยประหยัดน้ำ ระบบใช้งานง่าย เกษตรกรสามารถควบคุมระบบน้ำตามความต้องการได้ และมีการขยายผลสู่แปลงของสมาชิกอีกด้วย
“นับว่า ศพก. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในชุมชน และขยายผลองค์ความรู้ของประธาน ศพก. สู่เกษตรกรและชุมชนต่างๆ โดยรอบ สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างความมั่นคงทางอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน” นายพีรพันธ์กล่าว
ด้าน นายยุทธพงษ์ รัตนวิทย์ เกษตรกรต้นแบบ และประธาน ศพก. อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพ ศพก. และเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกร ทำให้ปัจจุบัน ศพก. อำเภอเมืองสระแก้วมีการถ่ายทอดความรู้ในหลักสูตรหลัก คือ การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต และหลักสูตรเสริม คือ บัญชีครัวเรือน การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเป็นหลักสูตรเรียนรู้ที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ศพก. มีความพร้อมในด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการอบรมการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร นอกจากนี้ยังมีแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบ และสมาชิกแปลงใหญ่ผักเพื่อนใจ บ้านคลองมะละกอ มีการปลูกพืชผักตามฤดูกาล หมุนเวียนตลอดปี และผลิตสินค้าตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีความหลากหลายของแปลงเรียนรู้ เช่น แปลงเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ประกอบด้วย พืชผัก ข้าว ไม้ผล และปศุสัตว์ การผลิตผักในโรงเรือน และระบบการให้น้ำแบบอัจฉริยะ (HandySense) โดยมีเกษตรกรที่สนใจเข้ามาร่วมเรียนรู้ใน ศพก. แล้ว จำนวน 490 ราย รวมถึงมีผู้สนใจมาศึกษาดูงาน มากกว่า 300 ราย
“ศพก. แห่งนี้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจทั้งในและนอกจังหวัด มีการพัฒนาสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ และพืชผัก ให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร มีการวางแผนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดตลอดทั้งปี สนับสนุนให้สมาชิก นำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ ทั้งในเรื่องของโรงเรือนปลูกพืช และการวางระบบน้ำในแปลงปลูกพืชผัก เช่น ระบบน้ำหยดและมินิสปริงเกอร์ ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ (HandySense) ในโรงเรือนปลูกผัก ที่ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาให้น้ำ และเพิ่มความแม่นยำในการควบคุมปริมาณน้ำให้แก่พืชผัก ทำให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูง” นายยุทธพงษ์กล่าว