เกษตร ชู IPM ปราบหนอนหัวดำมะพร้าว พาประจวบฯ รอด ช่วยเกษตรกรยั่งยืน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ติดตาม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ติดตามผลการควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว

            ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนแล้งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศัตรูพืชระบาดมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดทำแผนที่น้ำของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนการทำเกษตรโดยพึ่งพาระบบน้ำแบบเปิด ไปสู่ระบบน้ำแบบท่อ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแก้ปัญหาฤดูแล้งที่ขาดแคลนน้ำ ในขณะที่ฤดูฝนเกิดอุทกภัยได้ รวมถึงสั่งการให้ทำฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเตรียมวางแผนพิจารณาการใช้น้ำบาดาล โดยจะเร่งประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรต่อไป

นายพีรพันธ์  คอทองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ และช่วยเหลือเกษตรกรในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวตลอดมาตามระเบียบของภาครัฐ ซึ่งจากรายงานพื้นที่การระบาดในภาพรวมทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 พบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ใน 28 จังหวัด พื้นที่ 16,039 ไร่ และแมลงดำหนามมะพร้าว ใน 25 จังหวัด พื้นที่ 14,953 ไร่ โดยจังหวัดที่พบการระบาดสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม ตามลำดับ

สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบการทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าวเพิ่มขึ้นช่วงต้นปี 2567 ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งนำศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำมะพร้าว 4 ชนิด ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่า แมลงหางหนีบสีดำ และแมลงหางหนีบขาวงแหวน ไปปล่อย ในสวนมะพร้าวของเกษตรกรที่ได้รับการรายงานดังกล่าวแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) โดยรวม คือ ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ 33 ล้านตัว ในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย-ปานกลาง ควบคู่กับการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช จำนวน 10,686 ไร่ โดยก่อนดำเนินการ ได้สุ่มตรวจสอบระดับความหนาแน่นของหนอนหัวดำ พบหนอนมีชีวิตเฉลี่ย 28 ตัว/ต้น และสำรวจหลังดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน พบหนอนมีชีวิตลดลงเฉลี่ยเหลือ 11.1 ตัว/ต้น ซึ่งต้นมะพร้าวจะมีระยะเวลาการฟื้นฟู 8 -10 เดือน จึงจะมีใบสีเขียวเพิ่มขึ้น

โดยมาตรการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวในระยะต่อไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ การให้คำแนะนำในการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควบคู่กับการปล่อยแตนเบียน ในการป้องกันกำจัดในพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และแมลงดำหนามมะพร้าว ซึ่งการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทั้งวิธีการฉีดเข้าลำต้นและพ่นทางใบมะพร้าวที่ผ่านมาไม่พบสารตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว จึงไม่ส่งผลต่อกระบวนการส่งออก หลังจากใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้ว จะต้องเว้นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะส่งเสริมการควบคุมศัตรูมะพร้าวด้วยการปล่อยศัตรูธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตามให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในการจัดการศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการประเมินประชากรศัตรูมะพร้าว และสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ผ่านระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร และสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติสำหรับผลิต ขยาย และปล่อย เพื่อควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าว ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรคาดหมายว่า การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะทำให้พื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สามารถควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “หนองไทรโมเดล” เป็นโมเดลในการจัดการศัตรูมะพร้าวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยให้ความสำคัญ กับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ช่วยกันตั้งกฎเกณฑ์ แผนรับมือการระบาด แต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน 1 คน ดูแล 4 ครัวเรือน รวมถึงการสร้างกำแพงหมู่บ้านโดยให้ความสำคัญกับต้นมะพร้าวที่อยู่เขตแดน และสื่อสารเชิงรุกประชาสัมพันธ์เตือนการระบาดตลอดจนให้ความรู้คนในชุมชน เมื่อพบเจอการระบาดของศัตรูมะพร้าวให้รีบแจ้งผู้นำชุมชน ผู้รับผิดชอบ หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อจัดการควบคุมการระบาดอย่างทันท่วงที ผลของมาตรการการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ของพื้นที่หนองไทร โดยการสุ่มตรวจสอบระดับความหนาแน่นของหนอนหัวดำ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 พบ หนอนหัวดำมีชีวิต 1 ตัวต่อต้น หรือ 25 ตัวต่อไร่ หนอนหัวดำตาย 4.3 ตัวต่อต้น หรือ 107.5 ตัวต่อไร่ ระยะดักแด้ 3 ดักแด้ ต่อต้น หรือ 75 ดักแด้ต่อไร่ และระยะตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ) 5 ตัว จากตัวอย่าง 30 ต้น (ตัวอย่าง) โดยชุมชนร่วมกันผลิตขยายแมลงศัตรูธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) แสดงให้เห็นว่ามาตรการ IPM ของชุมชนอยู่ในระดับที่ศัตรูธรรมชาติสามารถควบคุมศัตรูพืชได้ อันเป็นความสำเร็จในระดับที่ควรจะเป็นที่จะขยายผลไปยังชุมชนอื่นต่อไปซึ่งจากความสำเร็จของหนองไทรโมเดล กรมส่งเสริมการเกษตรคาดหมายว่า การขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ทั้งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจะสามารถควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

***************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: ข่าว เมษายน 2567

ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร