นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกได้ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด จำหน่ายทั้งในประเทศและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เฝ้าระวังบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบให้เกิดเสถียรภาพอย่างสูงสุด โดยในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2567 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในผลไม้สำคัญอย่างทุเรียนซึ่งจะมีผลผลิตกระจายตัวสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เน้นย้ำเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลไม้ที่ส่งไปขายยังต่างประเทศ เพราะหากไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นมีนโยบายในการควบคุมคุณภาพผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งผลผลิตตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกทุเรียนไทยในปีนี้ทะลุ 1.3 แสนล้านบาท
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้วางแนวทางการพัฒนา/แก้ไขปัญหา ดังนี้ ระยะเร่งด่วน บริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อสนับสนุนทั้งการทำฝนหลวงและการกระจายน้ำ การส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ การปฏิบัติการป้องกัน กำกับ การตรวจสอบการขนส่งและจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรการการวางแผนด้านการบริหารจัดการแรงงานเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่จำเป็น และการเฝ้าระวังประสิทธิภาพของระบบสัญญาซื้อขายแบบเหมาสวนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ร่วมมือกับทุกภาคส่วนตรวจสอบป้องปรามผู้จำหน่ายทุเรียนอ่อนโดยบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาการตัดและจำหน่ายทุเรียนอ่อนให้หมดไป พร้อมรณรงค์ให้ตัดทุเรียนแก่ตามพันธุ์ของทุเรียน ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตสดมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก (ทุเรียนแช่แข็ง) พร้อมกับส่งเสริมการบริโภคทุเรียนแปรรูปและผลิตภัณฑ์จากทุเรียนในตลาดต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมเกษตรกรทุกพื้นที่ให้บริหารจัดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GAP เน้นเพิ่มสัดส่วนผลผลิตคุณภาพเกรด A เพิ่มขึ้นถึงมือผู้บริโภค และส่งเสริมการสร้างทักษะให้แรงงานมือตัดรุ่นใหม่มีความชำนาญในการคัดเลือกทุเรียนแก่ – อ่อน และจัดทำทะเบียนข้อมูลมือตัดทุเรียน ส่วนในระยะกลางและระยะยาว หาตลาดใหม่เพื่อการส่งออกเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายประเทศผู้ค้า ส่งเสริมการผลิตทุเรียนอัตลักษณ์แต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่า และดึงปริมาณผลผลิตจากตลาดทั่วไปไปสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ตลอดจนส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้เกิดห่วงโซ่อุปทานการแปรรูปทุเรียนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมาทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนถึงร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน และพบว่าแม้ว่าทุเรียนไทยจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกทุเรียนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะราคาทุเรียนในตลาดส่งออกสำคัญอย่างประเทศจีน พบว่าราคายังเป็นที่น่าพอใจ จึงอยากฝากไปยังเกษตรกรผู้ปลุกทุเรียน ตลอดจนผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐาน และอย่าทำลายชื่อเสียงด้วยการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างเด็ดขาด
*************
พีรมณฑ์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว
กลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล