“แอนแทรคโนสพริก” เชื้อราตัวร้ายของชาวสวนพริก

กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกให้เฝ้าระวัง “โรคแอนแทรคโนส” หรือ “โรคกุ้งแห้ง” โดยสังเกตบริเวณผิวของพริก ที่จะเกิดอาการมีจุดหรือแผลช้ำยุบตัวเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้น ลักษณะเป็นวงรีหรือวงกลม โดยบริเวณแผลจะพบส่วนของเชื้อราเป็นตุ่มสีดำขนาดเล็ก เรียงเป็นวงซ้อนกัน ในสภาพที่อากาศชื้นจะเห็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อน ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อรา ที่แพร่กระจายมากับลม น้ำ หรือติดมากับแมลงที่บินมาเกาะบริเวณแผล เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูได้โดยติดอยู่กับเศษซากพืชหรือพืชอาศัยอื่น ๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว หญ้า ผัก ไม้ผล ไม้ประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ โรคแอนแทรคโนสพริกพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในผลพริกที่เริ่มสุกหรือก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี ผลพริกที่เป็นโรคนี้จะโค้งงอบิดเบี้ยวลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง และร่วงก่อนเก็บเกี่ยว ถ้าเกิดโรคที่ก้านใบและก้านผลจะทำให้ใบและผลร่วง หากรุนแรงผลจะเน่า ร่วง ก่อนเก็บขายได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรควรหมั่นสังเกตพืชผลอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับวิธีป้องกัน ควรเริ่มทำตั้งแต่กระบวนการแรก คือ การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าจากแหล่งที่ปราศจากโรค หรือถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เองต้องเลือกจากผลพริกที่ไม่เป็นโรค และก่อนการเพาะ ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น หรืออุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 25 นาที เมื่อนำไปปลูก ให้จัดระยะปลูกไม่ชิดติดกันเกินไป คอยกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แปลงปลูกมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค  เมื่อพบผลพริกเป็นโรค ให้เก็บนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อโรค หากเกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช ขอให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำ โดยสารเคมีที่แนะนำคือ โพรคลอราซ 45% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน/ไดฟีโนโคนาโซล 20% /12.5% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมกับน้ำ 20 ลิตร และนำมาพ่นประมาณ 2 ครั้ง ห่างกันเป็นเวลา 7 วัน หรือจนกว่าพืชจะหยุดแสดงอาการของโรค

หากเกษตรกรมีข้อสงสัยด้านโรคพืช สามารถปรึกษาหมอพืช และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน

…………………………..