เกษตรมูลค่าสูง ทาง (รอด) เลือก สู่อนาคตที่ยั่งยืน

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประโยคคุ้นหูที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของไทย ในฐานะประเทศเกษตรกรรมอันมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตอบสนองความต้องการบริโภคที่มีอย่างไม่จำกัด การใช้สารเคมีทำเกษตรในปริมาณมากเกินขีดจำกัดของธรรมชาติ และการเร่งรีบขยายพื้นที่เพาะปลูกที่บุกรุกทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงแหล่งต้นน้ำ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ หรือแม้กระทั่งพืชผัก ในการเจริญเติบโต ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งที่เราต้องเร่งแสวงหาแนวทางเพื่อปรับตัว โดยเฉพาะในภาคการเกษตร

นอกจากปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ รูปแบบการทำเกษตรของประเทศไทย โดยรายงานจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า GDP ภาคการเกษตร มีสัดส่วนเพียง 9% ของ GDP ประเทศ เมื่อเจาะลงที่สถิติการส่งออกของไทย พบว่า แม้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีสัดส่วนที่แตกต่างกันอยู่มาก ภาพรวมในปี 2566 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 284,561.8 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นมูลค่า 49,203.1 ล้านดอลลาร์ (1.69 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 17.39% ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 78.69% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม พบว่า ภาคการเกษตรไทยยังคงผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้น คิดเป็น 87.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งหากยังดำเนินกลยุทธ์โดยการผลิตและค้าขายสินค้าเกษตรขั้นต้นต่อไป ในขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ แร่ธาตุในดิน และขนาดของพื้นที่เกษตรลดน้อยถอยลง ประกอบกับภัยพิบัติที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยจะมีกำไรสุทธิต่อหน่วยที่ลดลง ทำให้ในบางช่วงที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ หรือกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ อาจเกิดภาวะขาดทุนและเกษตรกรไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวได้

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้สามารถรับมือความเสี่ยง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำทัพของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแนวทางเพื่อสร้างและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ดีกว่า โดยหนึ่งในทางเลือกและเป็นทางรอด นั่นคือการปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรรูปแบบเดิม ไปสู่ ‘การทำเกษตรมูลค่าสูง’ ด้วยการทำเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำสูง ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับการผลิตและคุณค่าเป็นสินค้าเกษตรโภชนาการสูง ตลอดจนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัสดุชีวภาพ ด้านเภสัชกรรม ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อรายได้สุทธิที่ดีกว่าเดิม เกิดความคุ้มค่าการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จพื้นฐานที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูป ประกอบด้วย

1) การปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Improve Productivity) พร้อมกับการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพ

ของฟาร์มตนเองอยู่เสมอ

2) การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology and Innovation)

3) การบริหารทางการเงินและบัญชี การลงทุนในตลาดทุน (Financial and Accounting Management, Equity Investment)

4) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Logistics Supply Chain Management)

5) การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Management and Data Analytics)

6) การบริหารการประหยัดต่อขนาด และการบริหารความมั่นคงวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน (Economic of Scale and supply Chain Security)

7) การบริหารหน่วยผลิตให้บรรลุเป้าหมายการหมุนเวียน และยั่งยืน (พลังงาน น้ำ ของเสีย Co2) (Circular and Sustainable Business Model : Lean and Clean Factory/Energy)

8) การบริหารจัดการองค์ความรู้ การปรับตัวให้เหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสามารถพลิกฟื้นจากปัญหาได้เร็วและดีกว่าเดิม (Knowledge Management and Adaptation & Resilience) มุ่งสู่ ESG : Environmental, social, corporate governance

แนวทางข้างต้นสอดคล้องกับ ‘โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง 500 ตำบล ภายในปี 2570 โดยในปี 2567 มีเป้าหมายกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 46 กลุ่ม จาก 46 ตำบล 43 อำเภอ และ 26 จังหวัด ใน 14 ชนิดพืช

หนึ่งในแปลงตัวอย่างคือ ‘แปลงใหญ่กล้วยไม้’ ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เดิมทีประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเจริญเติบโตของพืชไม่สมบูรณ์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม แมลงศัตรูพืชระบาดหนัก อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร จากสาเหตุข้างต้นทำให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด เงินออม และเงินทุนของครัวเรือน

กรมส่งเสริมการเกษตรได้วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต ดังนี้ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากระบบการให้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ พัฒนาระบบการจัดการกล้วยไม้สกุลหวายแบบแม่นยำสูง บริหารจัดการให้เกิดความสมดุลของระบบการเจริญเติบโต ผลิตและผสมปุ๋ยใช้เองในปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละระยะการเจริญเติบโต เพื่อสร้างความแข็งแรงในการต้านทานและสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืช ตลอดจนการพัฒนาสายพันธุ์ต้านทานโรคและแมลง

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ ได้ส่งเสริมให้ใช้ระบบการเฝ้าระวังประเมินความเสี่ยงและการแจ้งเตือน พร้อมวางแผนบริหารความเสี่ยงร่วมกับเจ้าหน้าที่ เช่น การเตรียมน้ำต้นทุนไว้ให้เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็ม และจัดสรรรถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมายังแปลงเกษตร

ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาด้านการตลาด ได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้คุณภาพ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเกรดคุณภาพและยืดอายุวงจรผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทำตลาดซื้อขายล่วงหน้า สร้างช่องทางตลาดใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาบรรจุภัณฑ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงพันธุ์เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 3 เท่าในปี 2570

จากสถานการณ์ความเสี่ยงของภาคการเกษตร และการวิเคราะห์แนวทางการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ทั้งนี้ จะต้องสร้างการยอมรับเทคโนโลยีและสร้างชุดความคิดใหม่ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และเป็นหัวขบวนในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ อันเป็นทางเลือก และทางรอดเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม