กงสุลอินโดนีเซียฝ่ายเศรษฐกิจ หารือความร่วมมือด้านการพัฒนาปาล์มน้ำมันระหว่างไทย – อินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา มอบหมายให้นางทัศณี ศุภกุล ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ นางศิริมา บางัสสาเร๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากร และคณะ ให้การต้อนรับ คณะผู้แทนจากสถานกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา นำโดยนายอะกุซ ซะฮ์โยโน ราชิด กงสุลฝ่ายเศรษฐกิจ (Mr. Agus Cahyono Rasyid : Consul Economic Affairs) เพื่อหารือเบื้องต้นในการกำหนดแนวทางความร่วมมือพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย

นายอะกุซ ซะฮ์โยโน ราชิด กงสุลฝ่ายเศรษฐกิจ สถานกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเดินทางมาหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ในการวิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน ต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรเข้าร่วมการฝึกอบรม THE 2 ND ROUND OF REGIONAL TRAINING FOR YOUNG FARMERS ON PALM OIL PRODUCTION IN THE FRAMEWORK OF IMT-GT ระหว่างวันที่ 22 – 26 เมษายน 2567 ณ เมืองจัมบี ประเทศอินโดนีเซีย โดยแนวทางความร่วมมือเบื้องต้น จะได้นำนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซีย มาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ และทางกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา มีแผนลงพื้นที่จังหวัดในภาคใต้ของไทยเพื่อเตรียมการและศึกษาดูงานด้านปาล์มน้ำมัน ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะไปศึกษาดูงาน ณ จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลหน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะสามารถอำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานของสถานกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา บรรลุผลได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยหวังว่าการพบปะพูดคุยกันในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือซึ่งจะได้กำหนดร่วมกันในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของปริมาณทั่วโลก ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย ตามมาในอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 ของโลก ปัจจุบันประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย มีความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาด้านการเกษตร ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ซึ่งปัจจุบันได้มีการหารือเพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจในกรอบความร่วมมือการพัฒนาปาล์มน้ำมันร่วมกัน (Memorandum Of Understanding Between Ministry Of Agriculture Of Indonesia (MOA), Ministry Of Plantation Industries and Commodity Of Malaysia (KPK), Ministry Of Agriculture And Cooperative Of Thailand (MOAC) On The IMT-GT Palm Oil Cooperation) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของรายละเอียด ของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อนำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย และประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้เห็นชอบการผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคีเพื่อเร่งรัดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ยังด้อยพัฒนา ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ก่อนที่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศจะให้ความเห็นชอบในปี พ.ศ. 2537 พื้นที่ความร่วมมือประกอบด้วย เกาะสุมาตราของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ อาเจะฮ์, สุมาตราเหนือ, สุมาตราตะวันตก, เรียว, จัมบี, สุมาตราใต้, เบิงกูลู, บังกา-เบลีตัง, เกาะเรียว, ลัมปุง ภาคเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซีย จำนวน 8 รัฐในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ ปะลิส, เคดาห์, ปูลัวปีนัง, เปรัค, เซลังกอร์, กลันตัน, มะละกา, เนอเกอรีเซมบีลัน และภาคใต้ของประเทศไทย จำนวน 14 จังหวัด ครอบคลุมประชากรจำนวนกว่า 70 ล้านคน ในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาที่คล้ายคลึงกัน


แผนงาน IMT-GT เน้นความร่วมมือในหลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน, ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, ด้านการท่องเที่ยว, ด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเชื่อมต่อการขนส่ง, ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านการผลิตและให้บริการฮาลาล โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การพัฒนาในเขตจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ เน้นบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญถึงความสำคัญของความร่วมมือของทั้งสามประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าและวิสัยทัศน์ของ IMT-GT ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคและประชาชนของทั้ง 3 ประเทศต่อไป