“แมลงนูนหลวง” ตัวร้ายในไร่อ้อย ทำลายราก-ใบ ต้นตายไม่รู้ตัว

อากาศร้อน แมลงนูนหลวงออกหากิน เกษตรกรหมั่นสังเกต อ้อยปลูกใหม่ – แตกกอ ก่อนแห้งตาย กำไรไม่มี เงินเลี้ยงแมลงนูนหลวงแทน

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ขอให้ระวังแมลงนูนหลวง โดยตัวเต็มวัยของแมลงนูนหลวง เป็นด้วงปีกแข็ง ขนาดตัวกว้างประมาณ 15-20 มม. ยาวประมาณ 32-40 มม. ส่วนท้ายของปีกมีจุดสีขาวด้านละจุด ตัวผู้มีน้ำตาลตลอดลำตัว ตัวเมียสีน้ำตาลปนเทา สีอ่อนกว่าตัวผู้ ตัวเต็มวัยอายุ 30-40 วัน ตัวเมียจะวางไข่ติดต่อกัน 2-6 วัน ได้ประมาณ 15-28 ฟอง ระยะไข่ 15-28วัน เมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนแล้วจะอาศัยอยู่ในดินกัดกินรากอ้อยเป็นอาหาร ระยะหนอน 8-9 เดือน ก่อนเข้าดักแด้หนอนจะมุดตัวลงดินลึก 30-60 ซม. และเข้าดักแด้ ประมาณ 2 เดือน จึงโตเป็นตัวเต็มวัย อาการเริ่มแรกของอ้อยที่ถูกทำลาย คือ ใบอ้อยมีสีเหลือง ต่อมาใบอ้อยจะแห้งมากผิดปกติ และจะแห้งตายไปทั้งกอ กออ้อยที่ถูกหนอนเข้าทำลาย จะดึงออกมาจากพื้นดินได้ง่าย เนื่องจากรากอ้อยถูกทำลายหมด การเข้าทำลายอ้อยจะปรากฏเป็นหย่อม ไม่แพร่กระจายไปทั้งไร่ อ้อยที่ปลูกในที่ดอนมักพบว่าถูกทำลายมากกว่าที่ลุ่ม การเข้าทำลายของหนอนแมลงนูนหลวงเพียงหนึ่งตัวต่อกอ สามารถทำให้อ้อยกอนั้นตายได้ทั้งกอ หรือทำให้ผลผลิตของอ้อยลดลงจนเก็บผลผลิตไม่ได้

เนื่องจากแมลงนูนหลวงออกเป็นตัวเต็มวัยปีละครั้งในช่วงฝนแรก (ประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และปริมาณน้ำฝน) ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันกำจัด คือ ทำลายก่อนที่ตัวเต็มวัยจะวางไข่ โดยการจับตัวเต็มวัยที่เพิ่งออกจากดักแด้ ไม่ควรเกิน 10 วันแรกของการเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นระยะที่กำลังผสมพันธุ์แล้วแต่ยังไม่วางไข่ มาทำลายก่อนที่ตัวเต็มวัยจะวางไข่ โดยใช้ไม้ตีตามกิ่งไม้ หรือเขย่าให้ตัวเต็มวัยตกลงมาขณะที่กำลังผสมพันธุ์ ใช้เวลาจับประมาณวันละ 30 นาที เริ่มจากเวลา 18.30-19.00 น. และจับต่อเนื่องกันประมาณ 1 เดือน หรือหากพบว่าในแปลงมีดินเริ่มแตกเนื่องจากแมลงนูนหลวงเริ่มขุดดินออกมามาก ให้ขุดดินบริเวณที่มีรอยแตกเพื่อจับตัวเต็มวัยแมลงนูนหลวงไปทำลาย วิธีนี้จะช่วยลดการระบาดของแมลงนูนหลวงในปีถัดไป

นอกจากนี้ เกษตรกรควรมีการพักแปลงปลูก ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโต และเมื่อเริ่มทำการเพาะปลูกใหม่ เกษตรกรควรไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่หนอนและดักแด้แมลงนูนหลวง ทั้งนี้สามารถใช้สารเคมีกำจัดได้ โดยใช้สารฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน กรณีหนอนอยู่ในระยะเริ่มฟักออกจากไข่ และพ่นไปตามร่องอ้อยที่เปิดหน้าดิน ทั้งสองด้านของแถวอ้อยห่างจากกออ้อยประมาณ 8 นิ้ว เสร็จแล้วเอาดินกลบ หรือใช้เครื่องผ่าตอแล้วใช้สารฆ่าแมลงพ่นลงไปในรอยผ่านั้น กรณีอ้อยอยู่ในระยะแตกกอ ทั้งนี้ เกษตรกรขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน