“อัญชัน สุขจันทร์” เกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม เปลี่ยนจากทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นไร่นาสวนผสมขยายผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์คุณภาพ ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทุกท่าน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567 ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 โดยหนึ่งในเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรผลักดันส่งเข้าประกวด คือ นางอัญชัน สุขจันทร์ ผู้ได้รับรางวัล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาไร่นาสวนผสม ประจำปี พ.ศ. 2567

 

นายวันชัย ประยงค์หอม เกษตรจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า คุณอัญชัน สุขจันทร์ เป็นหนึ่งใน เกษตรกรที่สำนักงานเกษตรอำเภอสังขะ และสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ถือว่าเป็นเกษตรกรที่หัวไวใจสู้ กล้าปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิม ที่มีการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงด้านผลผลิต ด้านโรคแมลงด้านศัตรูพืช ด้านภัยธรรมชาติ รวมทั้งด้านราคา ปรับเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสม โดยการทำเกษตรหลาย ๆ อย่าง เพื่อตอบสนองต่อการบริโภคลดความเสี่ยง มีการทำเกษตรหลายชนิดที่มีลู่ทางด้านการตลาด ได้ปลูกข้าวผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ปลูกผัก ปลูกไม้ผลสมุนไพร เลี้ยงปลา เลี้ยงกบเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว โดยบริหารจัดการแรงงานในครอบครัว จนมีรายได้ที่มั่นคง นับว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่เกษตรกรทั่วไป ควรศึกษาเรียนรู้เป็นแบบอย่าง

 

นางอัญชัน สุขจันทร์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาไร่นาสวนผสม ประจำปี พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า เดิมทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวเป็นหลักตามอย่างบรรพบุรุษ เน้นใช้สารเคมี จึงประสบปัญหา ทำให้มีหนี้สิน กระทั่งมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาให้คำแนะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการทำเกษตร และมีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ เขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการชั่งหัวมัน จังหวัดเพชรบุรี จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตร โดยนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา เริ่มจากปรับพื้นที่นาข้าว เปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสม ขุดสระ เจาะน้ำบาดาล แบ่งพื้นที่ทำที่อยู่อาศัย ปลูกผัก ไม้ผล สมุนไพร ปลูกกล้วยแซมอ้อย สร้างคอกเลี้ยงสัตว์และเลี้ยงปลา ปรับพื้นที่เป็นโคกหนองนา เปลี่ยนระบบการผลิตเมล็ดข้าวอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี ทำโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์ และแปรรูปผลผลิตของฟาร์ม ในปีแรกๆ ที่ทำ ก็มีปัญหาอุปสรรคบ้าง โดยเฉพาะการยอมรับจากคนในครอบครัว แต่ก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคมาได้จนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากครอบครัวและชุมชน จนปัจจุบันพัฒนาปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมาตามลำดับ ลดพื้นที่การทำนาจาก 11 ไร่ เหลือเพียง 5 ไร่ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์คุณภาพ ที่เหลือจะจัดสรรทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกไม้ผล ผักสวนครัว ทำโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงโค เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ปลูกข่า โดยได้ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในทุกกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเห็นว่า ชาวนาในพื้นที่ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มักจะต่างคนต่างทำ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงและประสบปัญหาขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำเป็นประจำทุกปี จึงเกิดแนวคิดที่จะแก้ปัญหา โดยได้รวมตัวกันในพื้นที่ จัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านจารย์ ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ขึ้น เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพจำหน่าย ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทางกลุ่มจึงได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2558 มีสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 120 คน พื้นที่นารวมประมาณ 1,000 ไร่ การดำเนินงานของกลุ่มจะมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมด้านองค์ความรู้ต่างๆ ในการทำเกษตร ให้คำแนะนำการดำเนินงานของกลุ่มในทุกขั้นตอนตั้งแต่ผลิตไปจนถึงจำหน่าย และยังสนับสนุนให้เข้าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้งบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท ในการจัดหาเครื่องจักรในการทำเกษตร เช่น รถตักล้อยาง เครื่องชั่งน้ำหนักพร้อมห้องควบคุม และรถโฟล์คลิพท์ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานของกลุ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 241 ราย สมาชิกส่วนใหญ่จะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิ กข15 ไว้เพื่อจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าวส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว อีกส่วนทางกลุ่มจะผลิตเอง ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี มีการคัดพันธุ์ปน เก็บไว้ใช้ปลูกในฤดูกาลต่อไป หรือขายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้ราคาดีเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำไร่นาสวนผสม ให้สามารถลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน ประหยัดเวลา เช่น การนำท่อพีวีซี มาประดิษฐ์เป็น สกีบก เพื่อใช้แหวกต้นข้าวในแปลง นำทางเข้าไปตัดพันธุ์ปนต้นข้าวที่อยู่บริเวณกลางแปลงได้ง่าย และสะดวกขึ้น ช่วยลดเวลาและแรงงาน ลดความเสียหายผลผลิตในแปลง ลดต้นทุน และส่งผลให้ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน โดยได้ส่งเสริมให้สมาชิกของกลุ่มแปลงใหญ่นำไปใช้ ซึ่งช่วยสมาชิกลดความเสียหายจากการเหยียบย่ำต้นข้าวได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์มาช่วยกระจายน้ำให้ทั่วถึง ประหยัดเวลา ลดแรงงานและค่าใช้จ่าย

“การเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทำให้ได้รับประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรและเทคโนโลยีการผลิตข้าว ทำให้ต้นทุนลดลง ได้ผลผลิตเพิ่ม ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์จากข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มได้ และจากความตั้งใจ ความอุตสาหะ ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในการทำเกษตร จนประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่นเข้ามาเรียนรู้ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสมในปีนี้ นับว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตของการเป็นเกษตรกร” นางอัญชัน กล่าวทิ้งท้าย