กสก. หนุน ‘ทุเรียนเมืองลับแล’ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูงทางเลือก ทางรอดเกษตรกรไทย

จากกรุงเทพฯ เดินทางขึ้นเหนือไปที่ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองในหุบเขาที่โด่งดังเรื่อง ทุเรียนปลูกแบบธรรมชาติ โดยเฉพาะสายพันธุ์เฉพาะถิ่นอย่าง ‘หลงลับแลอุตรดิตถ์’ และ ‘หลินลับแลอุตรดิตถ์’ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

หลงลับแลอุตรดิตถ์ และ หลินลับแลอุตรดิตถ์ เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอลับแล ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดทุเรียนที่ปลูกจากเมล็ด โดยกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2520

เอกลักษณ์ของหลงลับแลอุตรดิตถ์ จะมีผลทรงกลม หรือกลมรีค่อนข้างเล็ก ปลายผลนูน ฐานผลค่อนข้างใหญ่ ก้านผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 1 – 2 กิโลกรัม หนามผลเว้าปลายแหลม หนามปลายผลและรอบขั้วผลโค้งงอ มี เปลือกบางสีเขียวอมเหลือง ร่องพูไม่ชัดเจน ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองเข้ม แห้งละเอียดเหนียว ไม่มีเส้นใย มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก

ส่วนหลินลับแลอุตรดิตถ์ มีผลทรงกระบอก ปลายผลและฐานผลบุ๋ม ร่องพูชัดเจน ผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักประมาณ 1 – 3 กิโลกรัม มีเปลือกบางสีออกเขียวอมเหลือง หนามผลโค้งงอ แหลมคม เนื้อสีเหลืองเข้ม ไม่แฉะ ละเอียดเหนียวแห้ง เส้นใยน้อย รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เมล็ดลีบเล็ก

ที่สำคัญทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ และทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ ต้องปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เท่านั้น

นอกจากนี้ ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทะเบียนเลขที่ สช 61100104 และ ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทะเบียนเลขที่ สช 61100105 ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 อีกด้วย

แต่ถึงแม้ทุเรียนเมืองลับแลจะเป็นของแรร์ไอเทม มีราคาสูง และได้รับความนิยมมาก แต่ก็ยังประสบปัญหาราคาตกต่ำเรื่อยมาไม่ต่างจากผลไม้อื่นๆ ซึ่งทาง ‘กระทรวงเกษตรและสหกรณ์’ ได้มองเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้มีนโยบายยกระดับสินค้าเกษตรและเสริมศักยภาพเกษตรกร ผ่านการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการบูรณาการแผนงานและงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร จึงได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ในระดับพื้นที่ (ตำบล) ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทำเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำสูง ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับการผลิตและสร้างคุณค่า ต่อยอดเป็นสินค้าเกษตรโภชนาการมูลค่าสูงต่อไป

โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล’ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนพันธุ์หลงลับแลอุตรดิตถ์และหลินลับแลอุตรดิตถ์

นายประสิทธิ์ บุญสนอง รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล กล่าวว่า การรวมตัวกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล จุดประสงค์หลักคือลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เพราะตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา ราคาทุเรียนสายพันธุ์หลงลับแลอุตรดิตถ์และหลินลับแลอุตรดิตถ์ไม่เสถียรเท่ากับหมอนทอง ยิ่งช่วงกลางไปจนถึงปลายฤดูกาลราคาลงไปมาก เหลือไม่ถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผลผลิตที่ออกมามากสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ทางกลุ่มจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ กับทางสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อหาแนวทางสร้างทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์และหลินลับแลอุตรดิตถ์ให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

“หลังจากปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด เราตัดสินใจทำอาคารห้องเย็น เพื่อใช้รองรับผลผลิตที่ออกช่วงกลางถึงปลายฤดูมาแกะเนื้อแช่ในห้องเย็นไว้ ก่อนจะนำออกมาจำหน่ายช่วงนอกฤดูกาล ในอนาคตหากห้องเย็นเสร็จ ผมคิดว่าจะช่วยให้เราบริหารจัดการผลผลิตที่ออกมาในตลาดได้ดี สามารถดันราคาไว้ได้ให้อยู่ที่ 450 – 600 บาทต่อกิโลกรัมตลอดฤดูกาล ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีเปอร์เซ็นต์รายได้กลับขึ้นมาประมาณ 50% ทีเดียว รองประธานกลุ่มฯ กล่าว

ด้าน นายอรรถพร กลิ่นเพชร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 49,830 ไร่ ใน 38,946 ไร่ หรือประมาณ 70% เป็นพื้นที่ของอำเภอลับแล ดังนั้นการเข้าไปส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแลจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งทั้งในเชิงพื้นที่และความร่วมมือของคนในชุมชน ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มที่สามารถพัฒนาและต่อยอดไปเป็นผู้ประกอบการได้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่เพียงเข้าไปให้ความรู้กับสมาชิกกลุ่ม อย่างการดูแลต้นทุเรียน การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน แต่ยังช่วยแนะแนวทางการควบคุมคุณภาพผลผลิต กลไกการตลาดแล้ว และช่วยหางบประมาณ หาแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะมาสนับสนุนให้กับกลุ่มในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป” นายอรรถพร อธิบาย

นายอรรถพร เสริมว่า หากโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแลประสบความสำเร็จ นอกจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว จังหวัดอุตรดิตถ์ก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวมาชิมสวนผลไม้ในจังหวัดมากขึ้น รวมไปถึงกลายเป็นจุดเรียนรู้ จุดถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาต่อไป

โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ไม่เพียงจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรไทยให้มีมาตรฐานจนสามารถส่งออกไปทั่วโลก ให้กลายเป็นหนึ่งในซอฟต์ พาวเวอร์ ของประเทศที่ใครได้เห็นได้กินต้องนึกถึงไทยแน่นอน