ประเทศไทย นับเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านภูมิประเทศ ฤดูกาล ตลอดจนสภาพอากาศมีความเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม ทำให้ในแต่ละปีมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดให้ได้กินได้ขายเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร และเป็นรายได้สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งนับไปถึง กล้วยหอมทอง อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ ความต้องการบริโภคภายในสูง ส่วนตลาดต่างประเทศก็ต้องการไม่แพ้กัน
ซึ่งหากพูดถึงผลผลิต กล้วยหอมทอง ที่โดดเด่น แค่พูดชื่อคนก็รู้จัก คงไม่พูดถึงชื่อของกลุ่ม แปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ไปไม่ได้ ด้วยเอกลักษณ์สะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น คือ ผลใหญ่ยาว ผิวนวล เนื้อแน่น เปลือกบาง แถมมีกลิ่นหอมจนครองใจใครหลาย ๆ คน
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เส้นทางนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี เล่าย้อนตั้งแต่ครั้งแรกที่ กรมส่งเสริมการเกษตรภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการขับเคลื่อน ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพด้านการทำเกษตรของประเทศได้พบเจอ คือ สิ่งที่เกษตรกรปลูกกล้วยมักพบเจอในช่วงก่อนหน้านี้ คือ ปัญหาด้านวาตภัย จากพายุฤดูร้อน ส่งผลให้ สวนกล้วยได้รับความเสียหายจากปัญหาคอกล้วยหัก หรือเครือกล้วยผิดรูป แม้เกษตรกรพยายามลดความเสียหายโดยใช้ไม้ไผ่ค้ำพยุงต้น และปลูกต้นไม้กันลม แต่ป้องกันไม่ได้ เมื่อเจอลมพายุแรง
ทางกลุ่มฯ จึงได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อการลดการหกล้มจากพายุช่วยลดการสูญเสียจากลม และการให้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังส่งผลดีต่อการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตกล้วยผลโตโดยใช้ฮอร์โมน ช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น
จากการสำรวจปัญหาด้านการผลิตของเกษตรกร พบว่า ผลผลิต “20 – 30% เป็นผลผลิตที่ตกเกรด จากการดูแลรักษาและวาตภัย ซึ่งก่อนหน้านี้มักนำไปเป็นอาหารปลาและหมักเป็นปุ๋ย แต่ปัจจุบันมีหลังการปรับการปลูกเป็นการปลูกแบบ ต้นเตี้ย ทำให้มีผลผลิตที่ใช้ได้ 100% โดยนำส่วนที่ไม่สามารถส่งขายได้เพราะเกรดไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะนำไปแปรรูปเป็นกล้วยหอมทอดกรอบ ตราหอมนอกกรอบ ซึ่งระหว่างการขอตรวจรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.)”
ศศิธร ชาญประเสริฐ ยังบอกด้วยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยสนับสนุนสู่การเปลี่ยนแปลง การดำเนินการทั้งหมดชาวบ้านหรือเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมเป็นคนริเริ่มคิดอยากเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง โดยกรมฯ คอยเป็นโค้ชแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ไปจนถึงการประสานงานหน่วยงานทั้งภายในและนอก เพื่อต่อยอดนำไปสู่การยกระดับผลผลิต ‘กล้วยหอมทอง’ ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด โดยกรมฯ แทบจะอยู่ในทุกกระบวนการทำงานของกลุ่มฯ
นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้าหมายการทำเกษตรแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือ Zero Waste โดยเป็นการปลูกกล้วยแบบเครือเดียวเมื่อได้ผลผลิตตามต้องการแล้วจะโละต้นกล้วยทิ้งไปเป็นปุ๋ย เพื่อเป็นการพักแปลง ซึ่งระหว่างนั้นจะเป็นการปลูกข้าวโพดหวาน เป็นพืชหมุนเวียนและยังช่วยปรับปรุงบำรุงดิน อีกทั้งยังเป็นรายได้เสริมจากการปลูกกล้วยเมื่อปลูกกล้วยหอมครั้งต่อไปจะทำให้ได้ผลผลิตมาตรฐานเดียวกัน คือ ยาว ผลใหญ่ ไม่ตกเกรด ทั้งยังมีการตั้ง ‘ธนาคารไม้ค้ำ’ สลับกันใช้ไม้ไผ่ที่นำมาค้ำต้นกล้วยในกลุ่มฯ เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและยังลดต้นทุนของเกษตรกรได้อีกด้วย
“ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับนโยบาย ตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ที่มุ่งส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง คือ การเพิ่มรายได้ให้สินค้าและสินค้าแปรรูปมีมูลค่ามากขึ้น ดังคำที่ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พูดเอาไว้ว่า ถ้าจะพัฒนาสินค้าหรือเพิ่มมูลค่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นเรื่องของสินค้าที่มีมูลค่าสูงเราจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ทุกมิติตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์ดิน น้ำ เราจึงมีการเก็บตัวอย่างดินของสมาชิกแปลงใหญ่ทั้งหมดส่งให้กรมพัฒนาที่ดินเพื่อตรวจวิเคราะห์ว่าดินของเรามีธาตุอาหารอะไรบ้างและจำเป็นที่จะต้องบำรุงในส่วนที่ขาดไปอย่างไร” ศศิธร ชาญประเสริฐ กล่าว
ขณะที่ นุกุล นามปราศัย ประธานแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ บอกว่ากลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ มีเกษตรกรสมาชิก 23 ราย พื้นที่ปลูกรวมเกือบ 800 ไร่ สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP แล้วจำนวน 13 ราย พื้นที่ 542 ไร่ และมีสมาชิกได้การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ‘กล้วยหอมทองปทุม’ จำนวน 23 ราย พื้นที่ 1,303 ไร่ โดยกลุ่มมีการพัฒนาให้เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ทุกคนได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งหมด ขณะนี้สมาชิกอีก 10 ราย อยู่ในขั้นตอนการตรวจรับรองมาตรฐาน
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ได้ปลูกกล้วยหอมตั้งแต่แรก แต่ปลูกส้มเป็นหลัก แต่เมื่อสถานการณ์ทางธรรมชาติ ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่ได้เป็นตามที่วางเอาไว้ จึงมีการพูดคุยกันหันมาปลูกเป็น ‘กล้วยหอมทอง’ แต่ก็ยังไม่ได้รวมกลุ่มกัน คือ ต่างคนต่างทำ ไม่ได้แชร์ความรู้หรือประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จึงมีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้มีการพูดคุยกันมาขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันมาขึ้น
“แม้จะเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่ปัญหาหนึ่งที่เราเจอ คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งพอคุยภายในหารือกันว่าตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานีกันเลยดีกว่า พร้อมมีการพูดคุยกับหน่วยงานราชการอย่างกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำองค์ความรู้ แนวทาง วิธีการต่าง ๆ นำมาบูรณาการ และต่อยอดสู่การปลูกต้นกล้วยแบบต้นเตี้ย”
นุกุล นามปราศัย กล่าวอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านมักเจอเรื่องผลผลิตที่ไม่ค่อยดีแต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน มีการนำนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนเข้ามา ทำให้วันนี้เรามีผลผลิตที่นำไปต่อยอด ทั้งส่งขายสู่ตลาดและนำไปแปรรูปขายได้ โดยปัจจุบัน กล้วยหอมทอง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอยู่ประมาณ 50,000 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต
กล้วยหอมทองลักษณะพิเศษ คือ เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองทอง มีขนาดพอดี ลูกไม่ติดเหลี่ยมไม่ใหญ่มาก และของเราเป็นดินเหนียวเป็นดินที่เหมาะกับกล้วยหอมทองทั้งเรื่องคุณภาพความหวาน ความใหญ่ที่พอดีเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นที่จะมีลูกใหญ่มาก ๆ ติดเหลี่ยม ความเหนียวนุ่มก็สู้กล้วยหอมทองจากทางกลุ่มไม่ได้ หลายคนที่ไปเจอผลผลิตของกล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ที่อื่น ๆ ถ้ามองเขาจะรู้จักเลย เพราะสีที่เป็นเอกลักษณ์ เปลือกบาง สีเหลืองทอง และมีความเหนียวนุ่มหอมในตัว
“ในระยะต่อไป เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์กล้วยหอมชนิดใหม่ กล้วยป๊อบ อาหารว่าง ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง และลดปริมาณการสูญเสียสูญเปล่า สามารถสร้างรายได้เสริมที่เป็นกอบเป็นกำ ตลอดจนเกิดความสมดุลของระบบนิเวศในแปลง ให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารและสิ่งมีชีวิตในดิน เป็นการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นุกุล นามปราศัย ปิดท้าย