นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็น 1 ในประเทศเป้าหมาย ตามโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม (Regional Participatory Implementation of Integrated Pest Management System) ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperative Special Fund) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดกิจกรรมพัฒนาองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านอารักพืช และการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืช โดยช่วงวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะนักวิชาการด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินการและการรับสนับสนุนครุภัณฑ์ (กล้องจุลทรรศน์) ตามโครงการความร่วมมือดังกล่าว ณ ศูนย์ป้องกันพืช (Plant Protection Center) กรมปลูกฝัง (Department of Agriculture) กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ (Ministry of Agriculture and Forestry) ซึ่งทีมกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้คำแนะนำแนวทางการพัฒนาการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูงเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกร
ด้านนายบุญจัน กรมบุยยะสิด อธิบดีกรมปลูกฝัง กล่าวว่า กรมปลูกฝัง โดยศูนย์ป้องกันพืช เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และถ่ายทอดความรู้ในการจัดการปัญหาศัตรูพืชที่พบโดยวิธีผสมผสาน (IPM) ให้แก่เกษตรกร โดยเจ้าหน้าที่จาก สปป.ลาว ที่เข้ารับการอบรมถ่ายทอดความรู้จากโครงการฯ ได้นำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานและเกษตรกร เกี่ยวกับการจัดการปัญหาศัตรูพืช เช่น การเฝ้าระวังและการวินิจฉัยศัตรูพืช การประเมินข้อมูลการระบาดของศัตรูพืช เพื่อการพยากรณ์ศัตรูพืช การผลิตขยายศัตรูธรรมชาติและสารชีวภัณฑ์ การจัดการดินปุ๋ย เป็นต้น รวมถึงการใช้กล้องจุลทรรศน์ ที่ได้รับจากโครงการฯ มาช่วยในการตรวจสอบคุณภาพชีวภัณฑ์ และวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืช เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแม่นยำให้มากขึ้น การติดตามเยี่ยมเยียนของคณะกรมส่งเสริมการเกษตรครั้งนี้รู้สึกยินดีและขอบคุณที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ ได้เห็นภาพและสามารถนำมาปรับแก้ไขในขอบเขตของพื้นที่ตนเองได้อย่างเหมาะสม และคาดหวังว่าประเทศไทยและ ส.ป.ป.ลาว จะมีโครงการความร่วมมือในลักษณะนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันต่อไป
ในการนี้ คณะนักวิชาการด้านอารักขาพืช ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ สหกรณ์กสิกรรมอินทรีย์ทุ่งมั่ง (Thongmang farm) เมืองไทรธานี (Xaythany District) นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Capital) โดยมี นางคำมอน ทองลาด ประธานสหกรณ์ฯ พร้อมด้วยสมาชิก ร่วมให้ข้อมูล ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์กสิกรรมอินทรีย์ทงมัง มีสมาชิก จำนวน 70 ประกอบอาชีพการเกษตรแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกไม้ผล เช่น เงาะ กล้วย กลุ่มเกษตรกรพืชผักอินทรีย์ เช่น ผักกาด ผักชีลาว หอมแดง ผักปัง ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ ไก่ เป็นต้น ดำเนินการผลิตภายใต้มาตรฐานเกษตรกรอินทรีย์ ส่งผลให้ผลผลิตมีตลาดรองรับแน่นอน และสามารถกำหนดราคาขายด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ สหกรณ์กสิกรรมอินทรีย์ทงมัง ได้รับการส่งเสริมด้านการเกษตรจากกรมปลูกฝัง ตั้งแต่การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ของเกษตรกรในพื้นที่ นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาวางแผนการดำเนินงานและวางแผนบริหารจัดการกลุ่ม ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกรในกลุ่ม สนับสนุนการฝึกอบรมให้กับสมาชิกเกี่ยวกับวิธีการผลิตตามหลักมาตรฐานอินทรีย์ และได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาศัตรูพืชที่พบโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชในท้องถิ่น เช่น ดอกคูณ มะขิ่น ยูคาลิปตัส ตะไคร้หอม สะเดา บอระเพ็ด เพื่อจัดการศัตรูพืชรวมถึงการใช้เชื้อราโตรโคเดอร์มาในการควบคุมโรคพืชอีกด้วย ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ฯ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับ นำมาปฏิบัติใช้ได้จริง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง เกิดความเข้มแข็งในชุมชน และความมั่นคงในอาชีพการเกษตรของตน
ต่อมา คณะนักวิชาการด้านอารักขาพืชได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ กลุ่มปลูกผักกะหล่ำปลีบ้านผาตั้ง เมืองวังเวียง (Vang Vieng) แขวงเวียงจันทน์ (Vientiane Province) โดยมี นายผุย เพชรบัวลม ประธานกลุ่มฯ ร่วมให้ข้อมูล โดยการจัดตั้งกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมตัวกันผลิตพืชผัก ได้แก่ กะหล่ำปลี มะเขือ พริก ผักชี หอมแบ่ง ผักชี ข้าวโพด ในช่วงที่เว้นว่างหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 25 ครัวเรือน ทำการเกษตรตามหลักการทำเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ CLEAN Project จาก WINROCK International ให้กับกลุ่ม เพื่อสร้างโรงเรือนปลูกผักแบบใช้ดินและปลูกแบบไร้ดินแบบประยุกต์ ติดตั้งระบบน้ำ และสร้าง Biogas Unit สำหรับผลิตปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูงจากเศษวัสดุในแปลงปลูก เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตพืชผักและการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการถ่ายทอดความรู้จากกรมปลูกฝัง ด้านการทำสารสกัดสมุนไพรสำหรับจัดการศัตรูพืช การใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเสริมให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าว และกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะผู้ติดตามผลการดำเนินงานความร่วมมือตามโครงการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางการเกษตร รวมถึงได้วิเคราะห์พื้นที่และเห็นว่ามีศักยภาพเหมาะสมกับการผลิตพืชมูลค่าสูงอย่างมาก จึงได้ให้คำแนะนำกับทางกลุ่มฯ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกพืชสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด องุ่น พืชผักเมืองหนาว เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของกรมปลูกฝังพิจารณา และได้เน้นย้ำถึงกระบวนการผลิตที่ควรดำเนินการควบคู่กับการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรและพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคาดี สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
นายรพีทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการติดตามผลการดำเนินการร่วมกับการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน สปป.ลาว พบว่า จากการที่เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในการจัดการปัญหาศัตรูพืชที่พบโดยวิธีผสมผสาน (IPM) ให้แก่เกษตรกร ตามหลักวิชาการ แม้จะยังไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ แต่กำลังพัฒนาและสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของการจัดการปัญหาศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) ซึ่งทาง สปป.ลาว จะดำเนินการจะพัฒนาความรู้ส่งถึงเกษตรกรเพิ่มยิ่งขึ้น ให้เกษตรรับองค์ความรู้อย่างทั่วถึง สามารถปรับใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้ทุกพื้นที่ได้จัดการปัญหาศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร จะดำเนินการติดตามและให้คำปรึกษาต่อไป
***************************************