นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย การผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีและปริมาณสูงจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ โรคและแมลงศัตรูพืช จึงจำเป็นต้องป้องกันกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีก่อนเกิดการระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายในวงกว้าง โดยโรคข้าวสำคัญแบ่งตามสาเหตุการเกิดโรคได้ 6 ประเภทคือ
1) โรคข้าวที่เกิดจากเชื้อรา ได้แก่ โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง โรคถอดฝักดาบ โรคกาบใบแห้ง โรคกาบใบเน่า และโรคใบวงสีน้ำตาล ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อราสามารถปลิวไปกับลมและติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ และบางชนิดสามารถสร้างส่วนขยายพันธุ์อยู่ได้นานข้ามฤดูกาลในตอซังหรือวัชพืชตามดินนา วิธีการป้องกันโรคจากเชื้อราสามารถทำได้โดย วางแผนการปลูกข้าวไม่ให้แปลงนามีต้นข้าวหนาแน่นเกินไป กำจัดวัชพืชในนาทุกชนิดรวมถึงซากต้นข้าวหรือตอซังไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรคจากเชื้อรา ศึกษาค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงบำรุงดินและใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมตามความต้องการของพืช พักดินและหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่อเนื่องทุกฤดูกาลตลอดปี
2) โรคข้าวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ โรคขอบใบแห้ง และโรคใบขีดโปร่งแสง ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่ไปกับน้ำ และมักระบาดรุนแรงในช่วงมีฝน สภาพแวดล้อมมีความชื้นสูง วิธีการป้องกันโรคจากเชื้อแบคทีเรียสามารถทำได้โดยเฝ้าระวังไม่ให้ระดับน้ำในแปลงนาสูงเกินควร ใช้พันธุ์ข้าวและแหล่งน้ำที่สะอาดปลอดโรค
3) โรคข้าวที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคใบหงิก โรคใบสีส้ม โรคเขียวเตี้ย และโรคหูด และ 4) โรคข้าวที่เกิดจาก
เชื้อไฟโตพลาสมา ได้แก่ โรคใบสีแสด และโรคเหลืองเตี้ย มักแพร่ระบาดโดยมีแมลงพาหะในการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ต้นอื่นหรือพืชอาศัยบางชนิด โรคจากเชื้อไวรัสและเชื้อไฟโตพลาสมานั้นไม่มีสารป้องกันกำจัด จึงต้องกำจัดต้นข้าวที่เกิดโรค ทำลายตอซัง แมลงพาหะ และวัชพืชในนา ซึ่งวิธีการป้องกันก่อนเกิดโรค เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชในนาข้าวไม่ให้เป็นพาหะจนเกิดโรคได้
5) โรคข้าวที่เกิดจากไส้เดือนฝอย คือ โรครากปม สามารถแพร่ระบาดได้ทั้งทางดิน น้ำ เศษซากพืช และพืชอาศัยจำพวกวัชพืชกก พืชตระกูลหญ้า วัชพืชใบกว้าง และวัชพืชน้ำ มักเกิดในสภาพไร่หรือแปลงกล้าข้าวที่ปล่อยให้น้ำแห้ง พบได้ตั้งแต่ระยะกล้ากระทั่งทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว โดยสาเหตุเกิดจาก ไส้เดือนฝอยรากปม ที่ตัวอ่อนจะเข้าทำลายรากและปล่อยสารออกมากระตุ้นให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบแบ่งตัวเร็วและมากกว่าปกติ เกิดเซลล์ใหม่ขนาดใหญ่รากพองขึ้นเป็นปมจนรากหยุดเจริญเติบโต วิธีการป้องกันโรครากปมคือไขน้ำท่วมดินในแปลงนาก่อนปลูกข้าว เพื่อทำลายไส้เดือนฝอย
6) โรคข้าวที่เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ โรคเมาตอซัง เกิดจากการสะสมสารพิษไฮโดรเจนซัลไฟล์ (H2S) ในดินซึ่งไปทำลายรากข้าว ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการคล้ายขาดธาตุและสร้างรากใหม่ในระดับเหนือพื้นดิน มักพบในข้าวอายุประมาณ 1 เดือน หรือระยะแตกกอ โดยมีสาเหตุจากการสลายของตอซังที่ไม่สมบูรณ์ เกษตรกรทำนาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการพักนา โรคเมาตอซังจึงไม่มีการระบาดไปสู่พื้นที่อื่น เกษตรกรจึงควรป้องกันโรคโดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้ชาวนาที่เริ่มปลูกข้าวแล้วในฤดูฝนนี้ เตรียมแปลงปลูกให้ดี กำจัดวัชพืชและศัตรูพืชในดิน ใช้พันธุ์ข้าวที่แข็งแรงพร้อมแหล่งน้ำสะอาดปลอดโรค ศึกษาค่าวิเคราะห์ดิน เมื่อปลูกแล้วหมั่นสำรวจแปลงนาสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชในนาข้าวทุกระยะ และอย่าลืมปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อรักษาสิทธิ์ที่จะได้รับจากภาครัฐ
***************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง ข่าว พฤษภาคม 2567
ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว