
“เมืองหลวงกล้วยไม้ ต้องนึกถึงสมุทรสาคร” คำพูดที่ไม่เกินจริง สมุทรสาครใกล้ๆ แค่นี้ การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไม่ถึง 1 ชั่วโมง นอกจากวัดวาอาราม อาหารทะเลสด และนาเกลือ หนึ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดสมุทรสาครไม่แพ้กัน คือพืชเศรษฐกิจอย่าง ‘กล้วยไม้’ ด้วยโอกาสและจุดแข็งของพื้นที่ทำให้จังหวัดสมุทรสาครขึ้นแท่นจังหวัดที่ปลูกกล้วยไม้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2570 ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” โดยมี กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไม้ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ

นายเอนก ชื่นอารมณ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการแผนงานและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในระดับพื้นที่ (ตำบล) อย่างแท้จริง ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการวิเคราะห์ศักยภาพต่างๆ มีการวางแผนการผลิต การเชื่อมโยงตลาด การเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเกษตรกร ขานรับนโยบาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการสร้างแนวทางและต้นแบบที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่
5 จุดแข็งกล้วยไม้สมุทรสาคร
จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่การเกษตร แค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 110,000 ไร่เศษ ขณะที่กล้วยไม้เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีพื้นที่การเพาะปลูกกล้วยไม้ประมาณ 3,000 ไร่เศษ
จุดแข็งของกล้วยไม้สมุทรสาคร ประกอบด้วย 5 เรื่องหลัก ได้แก่
1. สมุทรสาครเป็นจังหวัดปริมณฑล
ทำให้การคมนาคมสะดวก การกระจายสินค้าทำได้ง่าย เพราะใกล้ตลาดที่เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็น ปากคลองตลาด ตลาดธนบุรี ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือหากส่งออกก็มีสนามบินอยู่ใกล้ๆ
2. สภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำ มีไม่กี่จังหวัดที่สามารถปลูกกล้วยไม้ได้จำนวนมาก ได้แก่ นครปฐม และสมุทรสาคร
3. เกษตรกรมีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี
ในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ มีการพัฒนาสายพันธุ์ เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
4. บริษัทผู้ส่งออกกล้วยไม้ในพื้นที่มีมากถึง 5 บริษัท สอดคล้องกับอัตราส่วนการส่งออกต่างประเทศที่สูงถึงร้อยละ 40
5. มีสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย เป็นแหล่งรับเรื่อง แหล่งจัดหาปัจจัยการผลิต และแหล่งให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีส่วนราชการสำคัญ คือ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร ที่สามารถตอบโจทย์ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
5 Pain Point สู่แผนพัฒนา
หลังจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครได้ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับเกษตรกร พบ 5 ปัญหาหลักที่กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไม้เผชิญ ได้แก่
1. สถานการณ์ราคาผลผลิตและตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะราคาภายในประเทศ
2. ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งการใช้ปุ๋ย สารเคมี ที่ยังมีความจำเป็นอยู่ รวมถึงค่าไฟฟ้า ค่าแรงงานที่สูงขึ้น
3. สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มมากขึ้น และมีภูมิต้านทานมากขึ้น
4. แหล่งเงินทุน กล้วยไม้เป็นพืชมูลค่าสูง การลงทุนจึงค่อนข้างสูง ดังนั้นหากมีแหล่งเงินทุนที่ช่วยในเรื่องของการปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยราคาถูก ในห้วงเวลาก่อนที่จะได้ผลผลิตประมาณ 8-12 เดือน จะเป็นผลดีกับเกษตรกร และ 5. น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร เมื่อถึงฤดูแล้ง สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ติดทะเลอยู่กับปากแม่น้ำท่าจีน จะประสบปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ซึ่งหากน้ำเค็มมากกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร จะไม่สามารถใช้รดกล้วยไม้ได้

“หลังจากทำข้อมูลโดยการนำประเด็นที่เป็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในแปลงใหญ่เข้ามาพูดคุย เราก็มีแผนแล้วว่าจะแก้ไขและพัฒนาแปลงใหญ่กล้วยไม้ไปในทิศทางต่างๆ ดังนี้ สร้างช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะทางออนไลน์ หรือออฟไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, การแปรรูปและการสร้างบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ, วางแผนประสานงานกับแหล่งเงินทุน-สถาบันการเงิน ให้ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยถูกที่สุด, ลดต้นทุนพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ และแนวทางในการใช้โซลาร์เซลล์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ กับอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรือนกล้วยไม้, พัฒนา ส่งเสริม วางแนวทางการใช้สารเคมี และสารชีวภัณฑ์ที่ถูกต้อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปุ๋ย การใช้ปุ๋ยผสมเองตามสูตรที่ต้องการ” เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูล


‘กล้วยไม้’ สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
ด้าน นายยงยุทธ ศรีจินดา ที่ปรึกษาแปลงใหญ่กล้วยไม้ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำแปลงกล้วยไม้ว่า แปลงใหญ่กล้วยไม้ ตำบลหนองนกไข่ เป็นการรวมตัวสมาชิกผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ 21 ราย พื้นที่การปลูกกว่า 335 ไร่ ประธานแปลงใหญ่คือ นายเบญจ ปุจฉาการ ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ขึ้นมา เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อรับออเดอร์จากบริษัทผู้ส่งออกอยู่ก่อนแล้ว เดิมทีมีสมาชิกกว่า 30 ราย แต่ด้วยวิกฤตโควิด ทำให้บางส่วนล้มเลิกไป
สำหรับกล้วยไม้ที่นิยมปลูกในพื้นที่มี 2 สกุลหลัก ได้แก่ สกุลหวาย และสกุลมอคคาร่า มีหลากหลายสีสันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ทั้งสีขาว สีชมพู สีเขียว สีม่วง สีเหลือง สีส้ม สีแดง จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ นิยมใช้ประโยชน์ร่วมกันในการนำไปจัดแจกัน จัดดอกไม้ในงานพิธีต่างๆ ตั้งแต่งานแต่ง งานศพ ไหว้ตามหลุมฝังศพ หรือประดับสถานที่ นอกจากนี้ดอกร่วงที่คัดออก ก็สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มมูลค่า โดยการดึงกลีบร้อยเป็นพวงมาลัยหลากหลายแบบ ทั้งพวงเต็ม ริบบิ้น คล้องมือ คล้องคอ พวงมาลัยไหว้พระ พวงมาลัยงานบวช พวงมาลัยหน้าศพ เป็นต้น

“กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาให้ความรู้ด้านวิชาการ จัดหาแหล่งความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหมที่เหมาะสมกับพื้นที่ การจัดการฟาร์ม การทำบัญชี รวมถึงปัญหาโรคระบาด โรคแมลง หาวิธีลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย ก็จะมาส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร ให้ผสมปุ๋ยใช้เอง อีกเรื่องหนึ่งคือ การลดต้นทุนกระแสไฟฟ้า เนื่องจากผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทุกรายจะต้องใช้ไฟฟ้าในการรดน้ำ ฉีดยา ให้ปุ๋ย ใช้เวลาทำงานในช่วงเช้าถึงเย็น ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มโดยปริยาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงหารือเกี่ยวกับโครงการโซลาร์เซลล์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ระบบการให้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่”
ไม่เพียงเท่านี้ ที่ปรึกษาแปลงใหญ่กล้วยไม้ ต.หนองนกไข่ ยังบอกอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำหลักการและแนวทางพัฒนาเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มช่องทางการตลาด การพัฒนาพันธุ์ หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ โรงเรือนกล้วยไม้อัจฉริยะหลังการเก็บเกี่ยว การยืดช่อดอก การใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนแรงงาน การใช้แผ่นกับดักกาวเหนียวควบคุมแมลง ลดการใช้สารเคมี วางแผนการผลิตโดยใช้วิธีปลูกเหลื่อมเวลา เพื่อให้ผลผลิตมีอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตลาดกับความต้องการของลูกค้าในตลาดต่างประเทศ และตลาดออนไลน์ให้เพิ่มขึ้น ประสานงานการออกเอกสารต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการส่งออก พร้อมผลักดันผลผลิตกล้วยไม้ก้าวสู่การเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงต่อไป