วันที่ 11 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาทได้จัดงานแถลงข่าวการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2567 ขึ้น เพื่อเป็นการ Kick off การรณรงค์ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2567 โดยมีนายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทเป็นประธานในพิธี และนายสุชาติ อ่อนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เป็นผู้กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานฯทั้งสิ้น 124 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1. การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “จับเข่าคุยเฟืองเรื่องทะเบียนเกษตรกร ราษฎร์-รัฐได้อะไร” 2. การให้บริการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร และการให้บริการด้านการเกษตรของศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช และ 3. นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายสุชาติ อ่อนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จ.ชัยนาท กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรในกลุ่มผู้ปลูกพืช ทำไร่นาสวนผสม ทำนาเกลือสมุทร และเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เพื่อให้มีฐานข้อมูลเกษตรกรทั้งประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและมีสถานะ การเป็นเกษตรกร แล้วทั้งสิ้น จำนวน 6.9 ล้านครัวเรือน และมีสมาชิกครัวเรือน จำนวน 11 ล้านราย รวมทั้งหมด 17.90 ล้านราย ในปี 2566 สำหรับในพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัดของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 198,400 ครัวเรือน พื้นที่ 7.68 ล้านไร่ ทั้งนี้จากผลการดำเนินการที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือตามโครงการและมาตรการภาครัฐครอบคลุมทั้งประเทศ เช่น การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช มากกว่า 4 แสนครัวเรือนต่อปี วงเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านบาท, โครงการประกันภัยพืชผล มากกว่า 1 แสนครัวเรือนต่อปี วงเงิน 1 พันล้านบาท, โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.6 ล้านครัวเรือนต่อปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
“ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรเน้นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรแจ้งข้อมูลปรับปรุงกิจกรรมการเกษตรตามข้อเท็จจริงด้วยตนเองผ่าน Mobile Application และWeb Application และร่วมบูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และร่วมพัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในการรวมบริการต่าง ๆ ของภาครัฐสำหรับประชาชนผ่าน “แอปพลิเคชัน ทางรัฐ” และ “แอปพลิเคชัน ThaID” ของกรมการปกครอง เพื่อความสะดวกของเกษตรกร และยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งบริหารจัดการและบำรุงรักษาฐานข้อมูลหลัก และระบบที่เกี่ยวข้อง สำหรับให้บริการบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลที่ครบถ้วน นำไปสู่การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร จัดทำสารสนเทศด้านการเกษตรในภาพรวมของประเทศ สามารถนำไปเผยแพร่บูรณาการใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นข้อมูลประกอบโครงการและมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด”
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วย Digital Transformation โดยมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องมาใช้ เช่น การตรวจสอบข้อมูลพื้นที่และขอบเขตเอกสารสิทธิ์ น.ส. 4 จากกรมที่ดิน การตรวจสอบข้อมูลบุคคล จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบและดึงข้อมูลเกษตรกรจากทะเบียนราษฎร ผ่านระบบ Linkage center แบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real Time มีการตรวจสอบการเพาะปลูกแต่ละชนิดพืช ด้วยการแปรภาพถ่ายดาวเทียมของ Gistda รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคม โดยการติดประกาศภายในชุมชน 3 วัน หรือการทำประชาคม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีแผนที่ GIS โดยการจัดทำผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล หรือวาดผังแปลงด้วยระบบ Geoplots ที่มีทั้งในรูปแบบ Mobile Application และWeb Application ซึ่งทำให้ข้อมูลเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร ได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 15 วัน หรือหากเป็นไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 30 วัน และปรับปรุงข้อมูลทุกปีให้เป็นปัจจุบัน โดยสามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง หรือเกษตรกรดำเนินการด้วยตนเองทางระบบออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ https://efarmer.doae.go.th และแอปพลิเคชัน Farmbook
ด้านนายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ด้าน นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความช่วยเหลือ เมื่อมีการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามโครงการที่หน่วยงานภาครัฐได้ จัดทำขึ้นแล้ว ยังช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน การกำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาการเกษตร เช่น วางแผนการผลิต วางแผนการตลาดหรือใช้จำแนกเกษตรกรเพื่อให้ดำเนินโครงการหรือมาตรการต่างๆได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อพัฒนาการเกษตรในภาพรวมให้เติบโต ด้วยความมั่นคง และยั่งยืน ผมหวังว่าการจัดงานประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ให้ตรงตามความเป็นจริงและเป็นปัจจุบันเพื่อรักษาสิทธิ์และโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ฝากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ และมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ครบถ้วน
“ขึ้นทะเบียนเกษตรกร รักษาสิทธิ์ รับโอกาสและการช่วยเหลือจากภาครัฐ”