กรมส่งเสริมการเกษตร มีภารกิจในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรในกลุ่มผู้ปลูกพืช ทำไร่นาสวนผสม
ทำนาเกลือ และเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรจะต้องเป็นผู้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอตามที่ตั้งแปลงปลูก และสามารถแจ้งปรับปรุงทะเบียนผ่านช่องทาง Mobile Application “Farmbook” และ e-Form เมื่อทำการเพาะปลูกใหม่แล้ว 15 วัน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร จึงได้มีการจัดงานรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรในระดับเขต ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ได้มากขึ้น
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6.9 ล้านครัวเรือน ในส่วนของ 14 จังหวัดภาคใต้ มีครัวเรือนเกษตรกรจำนวนทั้งสิ้น 1,011,120 ครัวเรือน การที่เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรเป็นประจำทุกปี ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อมูลจะมีความครบถ้วน เป็นปัจจุบัน จะทำให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรเอง โดยภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปวางแผนการทำการเกษตรฤดูกาลถัดไป การได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐ สามารถนำข้อมูลไปวางแผนพัฒนาการเกษตร การจัดการด้านการผลิตและการตลาด การส่งเสริมสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ในปี 2565 ถึงปี 2566 ข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ได้ถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล คิดเป็นจำนวนเงิน 123,943 ล้านบาท ผ่านโครงการต่าง ๆ ได้แก่ 1.) โครงการประกันรายได้เกษตรกรข้าวนาปี จำนวน 4.65 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 7,869 ล้านบาท 2) การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย 479,828 ครัวเรือน เป็นเงิน 6,891 ล้านบาท 3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.65 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 103,455 ล้านบาท และ 4) การประกันภัยพืชผล (ข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) จำนวน 0.148 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 1,728 ล้านบาท
“ ในปี 2567 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่เป้าหมายเป็น Digital DOAE โดยการพัฒนาระบบงานให้เป็น Digital Transformation ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ใช้วางแผนงานส่งเสริมการเกษตรให้มีความทันสมัย สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงฯ เช่น การนำข้อมูลไปซ้อนทับกับข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ใช้สำหรับ 1) การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เหมาะสมตาม Agrimap และส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง 2) การวางแผนป้องกันและเฝ้าระวังภัยพิบัติ เช่น พื้นที่น้ำเค็ม อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง และการระบาดของศัตรูพืช 3) การป้องปรามการเผาพื้นที่การเกษตร จากจุดความร้อนHot spot และ 4) แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5”
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำทะเบียน เกี่ยวกับการประกอบกิจกรรมในด้านการเกษตร และเป็นหน่วยงานที่ให้ข้อเสนอแนะนโยบาย มาตรการด้านการเกษตรให้แก่รัฐบาล จึงมีการบูรณาการระบบข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและจัดทำข้อมูลทางด้านการเกษตรแบบเปิดเชื่อมโยงกับศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Farmer ONE) นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center : NABC) เพื่อรองรับการดำเนินการด้าน Big Data โดยการเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลด้านเกษตร และการให้บริการกับทุกภาคส่วน NABC เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ มีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางการเกษตร ตลอดจนศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ในทุกระดับ และสร้างเครือข่ายข้อมูลเกษตรขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ
จะเห็นได้ว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรนั้น มีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรก้าวสู่เกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านนายปัทพงศ์ สารบรรณ์ เกษตรจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการดำเนินการรับขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยเฉพาะสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียน จากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง รวมทั้งการตรวจสอบพื้นที่และความถูกต้องของข้อมูล การวาดผังแปลงดิจิตัล การจัดทำประชาคมเพื่อรับรองข้อมูล และการพิมพ์เล่มสมุดเพื่อมอบให้กับเกษตรกร ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมของสำนักงาน ด้านวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการให้บริการแก่เกษตรกรที่เข้ามารับบริการ โดยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช” ในทุกสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งเป็นศูนย์ One Stop Service ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร ในการขอรับบริการ ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการจัดทำแผนในการลงพื้นที่ไปยังจุดนัดหมายของหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อให้บริการ โดยมีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นผู้ช่วย และยังมีการนำเทคโนโลยีด้านแผนที่ มาประยุกต์และปรับใช้ในการดำเนินการรับขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร
สำหรับคุณค่าของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่มีต่อตัวของเกษตรกร คือ การสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เกษตรมีสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการด้านการเกษตร ทั้งในด้านการช่วยเหลือภัยพิบัติด้านพืช การเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผล การเข้าร่วมโครงการมาตรการภาครัฐ การพัฒนาความรู้และทักษะด้านอาชีพ และสิทธิการเข้าถึงบริการภาครัฐที่รวดเร็ว ผ่าน e-Service ส่วนคุณค่าด้านสังคม คือเพื่อการขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่ดีกว่าเดิม ซึ่งทะเบียนเกษตรกร สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ในระบบตรวจสอบย้อนกลับมาตรฐานสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์
การขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นสิทธิ์ของเกษตรกร ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่หากไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ หรือการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง โรค-แมลงระบาด ผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้ในพื้นที่ที่มีการประกาศภัย ก็จะมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงได้ “จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามรอบการผลิต ให้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อสิทธิและประโยชน์ของเกษตรกร”
ข้อมูล : ประชาสัมพันธ์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา