ภายใต้การผลักดันของรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ เร่งลดต้นทุนการผลิต หาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเติม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น โดยมี ‘กรมส่งเสริมการเกษตร’ เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิเคราะห์ปัญหาและความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มเกษตรกร หาทางปรับปรุงแก้ไข เสนอแนะแนวทางเพิ่มผลผลิต หาตลาดจำหน่ายและส่งออก ฯลฯ
มีการกำหนดเป้าหมายดำเนินการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง 500 ตำบล เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 โดยนำร่องในปี 2567 ในส่วนของคณะทำงานด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 16 ชนิดพืช 84 กลุ่ม ในจำนวนนี้มีเป้าหมายเกษตรกรแปลงใหญ่ของกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าร่วมโครงการ 46 กลุ่ม จาก 46 ตำบล 43 อำเภอ และ 26 จังหวัด
‘แปลงใหญ่หน่อไม้ฝรั่ง หมู่ 8 ตำบลวังสวาป อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูงในปีนี้ ด้วยสามารถแก้ไขปัญหาปริมาณผลผลิตลดน้อย ไม่ได้คุณภาพ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจในการขอรับการรับรองมาตรฐาน GAP แก่เกษตรกรของกลุ่มได้เป็นผลสำเร็จ
ปิยะมาศ แสนสุนนท์ หรือ พี่หนิง ผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่หน่อไม้ฝรั่งหวานกรอบแห่งหมู่ 8 เล่าว่า ก่อนหน้านี้ปลูกพืชผักผลไม้ตามฤดูกาลซึ่งจำเป็นต้องใช้สารเคมี เมื่อสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งต้องเพิ่มปริมาณสารเคมีมากขึ้น ต้นทุนผลผลิตก็เพิ่มขึ้น ไม่สมดุลกับราคาที่จำหน่ายในท้องตลาดจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการปลูกหน่อไม้ฝรั่งซึ่งเป็นพืชทนฝนทนแล้ง เติบโตได้ดีกับปุ๋ยชีวภาพ
“พืชผักอย่างอื่นถ้าไม่ใช้สารเคมีในปริมาณมากจะสู้แล้งไม่ได้ ยิ่งสภาพอากาศแล้งมากก็จะมีแมลงจำพวกเพลี้ยระบาดหนักมาก ผลผลิตเสียหาย แล้วข้อดีของหน่อไม้ฝรั่งก็คือ หากเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสม หน่อไม้ฝรั่งจะสามารถปลูกได้ทั้งปี เป็นการปลูกครั้งเดียว แต่หากใส่ใจดูแลดีจะสามารถเก็บผลผลิตได้นาน 5 – 10 ปี เก็บได้ทุกวัน ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรหมู่ 8 มีคนที่ปลูกแล้วเก็บผลผลิตได้นานสุดถึง 7 ปี”
ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรหน่อไม้ฝรั่งหมู่ 8 ก่อนเข้าร่วมในโครงการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง หลัก ๆ เป็นเรื่องของการติดโรคจากเชื้อรา บางคนยังขาดความรู้ด้านการป้องกันแก้ปัญหา รวมถึงยังมีบางแปลงที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย
“เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องของโรคเชื้อรา อบรมให้ความรู้ต่าง ๆ ลงพื้นที่จริงตามแต่ละแปลง ดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร ตรวจสภาพดินและอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อการผลิต เช่น การใช้ปูนโดโลไมท์ สอนทำปุ๋ยชีวภาพ ให้ความรู้เรื่องแก้ปัญหาโรคพืชและแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ
โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมี ซึ่งทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก ที่สำคัญคือให้ความรู้เรื่องของ GAP ตลอดจนช่วยประสานงานจัดส่งใบสมัครให้หน่วยตรวจรับรอง GAP”
ด้วยความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการเกษตร จึงทำให้หน่อไม้ฝรั่งในแต่ละรอบการเก็บผลผลิตมีอายุนานขึ้น ปริมาณก็เพิ่มขึ้น โรคและแมลงลดลง ช่วงที่พักต้นก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเหมือนก่อนหน้าพอถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต พี่หนิงย้ำว่า จะไม่มีการใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด มีการวางกฎระเบียบของกลุ่มอย่างเข้มงวดในกลุ่มสมาชิกเกษตรกร เพราะหากมีการตรวจพบว่าใช้สารเคมีในช่วงนั้นจะต้องถูกระงับการส่งออกทั้งล็อต
“เมื่อต้นทุนลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เท่ากับมีกำไรเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถขยายจำนวนสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ได้ เพราะเมื่อเกษตรกรคนอื่นๆ ได้เห็นตัวอย่างของเราที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เขาก็สนใจเข้าร่วม”
ทางด้านของ นายธงชัย มูลคำศรี เกษตรจังหวัดขอนแก่น สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรหมู่ 8 เริ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งประมาณปี 2557 รวมพื้นที่ปลูกกว่า 600 ไร่ กระทั่งปี 2561 – 2563 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเกิดโรคระบาดโควิด ทำให้มีอุปสรรคต่อช่องทางจำหน่ายผลผลิตจากไร่สู่ผู้บริโภค จากนั้นก็ปลูกกันน้อยลง ประกอบกับเกษตรกรประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น สถานการณ์น้ำท่วม และแล้ง เกิดโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้การปลูกหน่อไม้ฝรั่งซึ่งปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่ปลูกทั้งอำเภอเพียง 70 ไร่ แต่เป็นเกษตรกรที่มีความพร้อมในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
“หลังจากที่สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นได้วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พบว่า Pain Point หรือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกหน่อไม้ฝรั่งมี 6 ประเด็น เริ่มจาก 1) เกษตรกรบางรายยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP บางรายได้รับแล้วแต่ขาดการต่ออายุ 2) ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ในบางจุดเพราะเกษตรกรปลูกพืชไร่อย่างอื่น จึงทำให้การปรับปรุงดินไม่สมบูรณ์ 3) เป็นเรื่องของโรคที่เกิดจากสาเหตุการติดเชื้อรา เนื่องจากหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชอยู่ชิดดิน ทำให้มีเชื้อราสะสมจนทำให้เกิดโรคได้ 4) เป็นเรื่องของคุณภาพมาตรฐานหน่อไม้ฝรั่งคุณภาพเกรด A ยังมีน้อยในเกษตรกรบางราย ซึ่งเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องที่ 5) คือแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และเรื่องสุดท้าย 6) เป็นปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่เกิดจากค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อการทำการเกษตร ไฟตก กระแสไฟไม่เสถียร ส่งผลต่อเครื่องมือทำการเกษตรเสียหาย”
นายธงชัย อธิบายถึงแนวทางแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นว่า เป็นการทำงานอย่างบูรณาการ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตรมาให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชตามระบบมาตรฐาน GAP ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในการผลิตพืชอย่างมีระบบ ป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรคและศัตรูพืช ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“ดินที่ขาดความสมบูรณ์ก็เชิญกรมพัฒนาที่ดินไปให้ความรู้เกษตรกร มีการตรวจสอบหาค่าวิเคราะห์ดินในการที่จะใช้ปุ๋ยตามที่วิเคราะห์ดิน ตลอดจนการเพิ่มเติมสารต่างๆ ส่วนเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชนั้นเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะตรวจสอบแต่ละพื้นที่ ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ และจะต้องลดการใช้สารเคมี จากที่ได้ทำมานั้นสามารถที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ โดยเฉพาะเชื้อราโรคโคนเน่า เชื้อรากำจัดโรคพืช”
ปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอ แนวทางแก้ไขคือให้ความรู้เรื่องระบบการใช้น้ำในพื้นที่ในแต่ละแปลง แนะนำการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่โครงการที่มีการขุดเจาะน้ำบาดาล ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นก็นำเสนอให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในกลุ่มนี้ด้วย แต่เรื่องของไฟฟ้านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ครอบครัวเกษตรกรจะอาศัยแรงงานในครัวเรือนเพียง 2 – 3 คน ดูแลแปลงพืชผล ไม่ได้เป็นการจ้างคนงาน จำเป็นต้องมีตัวช่วยอย่างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จึงยังทำให้เป็นปัญหาด้านต้นทุนพร้อมกับทิ้งท้ายว่า
“การปลูกหน่อไม้ฝรั่งให้ได้ราคาดี มีมูลค่าสูง มีความต้องการทั้งในชุมชนและเป็นสินค้าส่งออก จากการให้ความรู้ของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ การลงพื้นที่ไปตรวจสอบและสอบถามความสนใจของพี่น้องเกษตรกร พบว่ามีแนวโน้มที่เกษตรกรจะปลูกในพื้นที่อื่น ๆ อีกมาก”
“กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมเดินหน้าตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งผลักดันโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ เร่งลดต้นทุนการผลิต และหาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเติม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น”