ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่เกษตรกรนิยมปลูกข้าวนาปี โดยต้นข้าวในช่วงนี้จะอยู่ในระยะกล้า เพื่อให้ต้นกล้าได้เติบโตอย่างสมบูรณ์ นอกจากการบำรุงต้นแล้ว เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงปลูก เพื่อเฝ้าระวังการทำลายของโรคพืชและแมลงศัตรูพืชด้วยเช่นกัน และเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งเป็นเวลานาน และเริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้ดักแด้ที่พักตัวอยู่ในดิน โผล่ขึ้นมากลายเป็นผีเสื้อ วางไข่ และเจริญเติบโตเป็นหนอนกระทู้กล้า (lown armyworm) ซึ่งสภาพอากาศเช่นนี้ ยิ่งทำให้วงจรชีวิตหนอนสั้นลง ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทีมลงสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวในหลายจังหวัด และพบการระบาดของหนอนกระทู้กล้าในพื้นที่แล้ว ทั้งจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีษะเกษ จึงขอแนะนำให้เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
สำหรับหนอนกระทู้กล้า (lown armyworm) มีลักษณะลำตัวสีเขียว สีเทา หรือสีน้ำตาลแกมดำ มีแถบสีเทา
ถึงเขียวเข้มแกมดำ ด้านหลังมีแถบยาวขนานตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีสีจุดสีดำคล้าย
C – shaped ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หยักเป็นคลื่น กลางปีกมีจุดกลมสีดำ
โดยหนอนกระทู้กล้า จะเข้าทำลายกล้าข้าวในเวลากลางคืน ระยะแรกจะกัดกินผิวข้าว เมื่อหนอนกระทู้กล้า
โตขึ้น จะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดิน ทั้งใบและต้นข้าว เหลือไว้แต่ก้านใบ นาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อมๆ
และความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 1-2 วัน ซึ่งเมื่อเข้าทำลายในบริเวณโดยรอบแล้ว จะเคลื่อนย้ายไปยังจุดอื่น ในลักษะเป็นกลุ่มกองทัพ
กรมส่งเสริมการเกษตร ขอย้ำ เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาข้าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตความผิดปกติ และหมั่นกำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อทำลายแหล่งอาศัยที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนรุกรามขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งหากพบการระบาดหนอนกระทู้กล้าแล้ว ในเบื้องต้นให้ระบายน้ำเข้าแปลงกล้า จนท่วมยอดของต้นกล้า แล้วเก็บเอาตัวหนอนไปทำลาย หรือใช้สารกำจัดแมลง มาลาไทออน (มาลาไธออน 83% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ เฟนิโตรไทออน (ซูมิไทออน 50% อีซี) อัตรา 30 มิลลิลิตร เลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15%