แนะเกษตรกร ผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างถูกวิธี ได้ผลผลิตดี ปลอดภัยต่อสุขภาพ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าการใช้ปุ๋ยในภาคการเกษตรมีผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เนื่องจากส่วนใหญ่มีการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางในการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและฟื้นฟูพื้นที่เกษตร สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้เกษตรกรนำของเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์

สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ที่มี 3 ประเภท ได้แก่ 1) ปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์ ต้องนำไปหมักให้เกิดการย่อยสลายก่อนแล้วค่อยนำไปใช้ การใช้ต้องคำนึงถึงชนิดของดินและพืชที่ปลูกด้วย โดยเฉพาะการใช้แบบสดอาจทำให้เกิดความร้อน และมีการดึงธาตุอาหารบางตัวไปใช้ในการย่อยสลายมูลสัตว์ อาจจะทำให้พืชเหี่ยวตายได้ การใช้ปุ๋ยคอกนั้น นอกจากจะมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชในดินแล้ว ยังช่วยทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย ทำให้การเตรียมดินง่าย การตั้งตัวของต้นกล้าเร็วทำให้มีโอกาสรอดได้มากด้วย 2) ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ได้จากการนำชิ้นส่วนของพืช วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม มาหมักในรูปของการกองซ้อนกันบนพื้นดิน หรืออยู่ในหลุม เพื่อให้ผ่านกระบวนการย่อยสลายให้เน่าเปื่อยเสียก่อน โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์จนกระทั่งได้สารอินทรียวัตถุที่มีความคงทน ไม่มีกลิ่น มีสีน้ำตาลปนดำ และ 3) ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ แล้วทำการไถกลบเมื่อพืชเจริญเติบโตมากที่สุดซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก โดยพืชที่ทำเป็นปุ๋ยพืชสดควรมีอายุสั้น มีระบบรากลึก ทนแล้ง ทนโรคและแมลงได้ดี เป็นพืชที่ปลูกง่าย และมีเมล็ดมาก

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ผลดีในแปลงและปลอดภัยต่อสุขภาพ ต้องใช้อย่างถูกต้องด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ จากกรณีที่มีการพบผู้ป่วยวัณโรคเทียมในประเทศไทย ซึ่งมีพฤติกรรมการใส่ปุ๋ยคอกจากมูลวัวรอบต้นไม้เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการหายใจเอาเชื้อโรคที่ลอยขึ้นมาในอากาศเวลาเทปุ๋ยคอกลงบนพื้นดิน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ตรวจพบเชื้อวัณโรคเทียมหลายชนิดลอยขึ้นมาในอากาศในห้องปฏิบัติการเวลาเทปุ๋ยดินปลูก (Potting Soils) ซึ่งคนทั่วไปที่ปอดปกติเมื่อหายใจเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไปจะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอด เช่น มีโรคหลอดลมโป่งพอง เคยป่วยเป็นวัณโรค ควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในบริเวณที่คนกำลังเทปุ๋ยลงบนพื้นดิน หรือเทปุ๋ยลงบนพื้นดินด้วยตัวเอง และเน้นย้ำไปยังเกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าต้องเทปุ๋ยลงบนพื้นดินด้วยตัวเอง ต้องใส่หน้ากากป้องกันเชื้อโรค เช่น N95 เพื่อป้องกันหายใจเชื้อวัณโรคเทียมที่ลอยขึ้นมาในอากาศเข้าปอดด้วยทุกครั้ง ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ และควรใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัยขณะทำกองปุ๋ย หรือ กลับกองปุ๋ย หรือขณะใช้ปุ๋ย ล้างมือ ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดหลังจากทำกิจกรรมทุกครั้ง ไม่รับประทานอาหารขณะผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หลีกเลี่ยงที่จะให้ปุ๋ยอินทรีย์สัมผัสกับผลผลิต โดยเฉพาะในช่วงใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยว

สำหรับเกษตรกรหากต้องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักสมบูรณ์ คือ ผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยกิจกรรมจุลินทรีย์จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมเป็นวัสดุที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง ไม่มีกลิ่น มีสีน้ำตาลปนดำ ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว

กลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย : ข้อมูล