นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มีการคาดการณ์อนาคตไว้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงและซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce และให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ และผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแจงได้ว่าสินค้ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนน้อยกว่าระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นการสนับสนุนการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ดังนั้น รูปแบบธุรกิจเกษตรในอนาคต จึงต้องปรับตัวและพัฒนาองค์กร กระบวนการผลิต พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ พัฒนาการตลาด เพื่ออยู่ร่วมและอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เล็งเห็นความท้าทายและโอกาสดังกล่าว โดยปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากกว่า 82,000 แห่ง ในปี 2566 สามารถสร้างรายได้ (มูลค่าทางเศรษฐกิจ) ประมาณ 8,035,966,032 บาทต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2567) โดยใช้สินค้าเกษตรเป็นขั้นปฐมมาสู่การรวบรวม คัดแยกคุณภาพ และแปรรูปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) แต่จากรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ของโลก (Mega Trend) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อวิธีการใช้ชีวิตในประจำวันและการทำงาน ทั้ง Climate Change, Digital Technology, AI และ Bio Circular Technology รวมทั้งโครงสร้างประชากรโลก วิสาหกิจชุมชนจึงต้องปรับตัวเองให้มีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านความรู้และทักษะสมัยใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เตรียมสร้างทีมพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจชุมชนให้พร้อมสำหรับอนาคตอันใกล้ โดยการอบรม Upskill และ Reskill บุคลากร เพื่อให้มีสมรรถนะในด้าน 1) Growth Mindset สำหรับการพัฒนานักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและการขับเคลื่อนงานวิสาหกิจชุมชน 2) กระบวนการประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการในการลงพื้นที่และจัดทำเวทีชุมชน 3) การจัดทำแผนพัฒนากิจการตามผลการประเมินศักยภาพ ประกอบด้วย การวิเคราะห์ต้นทุนของกิจการ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้และการวางแผนธุรกิจ การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค (Customer Persona) และการจัดทำ Model ธุรกิจ เช่น BMC และ Value Chain 4) การเงินและการบัญชีเบื้องต้นที่เหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชน และ 5) การตลาดในยุค Digital Disruption วิเคราะห์การแข่งขัน ของกระแสตลาดโลกและตลาดประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้บริการ วิเคราะห์ แนะนำ ปรึกษา และสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจเกษตรให้แก่วิสาหกิจชุมชน
นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจชุมชน สู่การเกษตรมูลค่าสูง ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี สามารถเพิ่มผลิตภาพของทุน และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ของโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตลาดและผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถปรับตัวอยู่รอดสำหรับธุรกิจเกษตรในอนาคต อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย
************************
กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน : ข้อมูล