ประชุมเครือข่าย ศพก. แปลงใหญ่ ระดับประเทศ เชื่อมโยงการทำงานพัฒนาภาคการเกษตร โดยเกษตรกร

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร ร่วมกับกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ได้จัดการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่ 3/2567 ขึ้น ระหว่างวันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และได้รับเกียรติจากนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่กล่าวต้อนรับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างแปลงใหญ่ และ ศพก. อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมกันขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยนายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ และนายสายชล จันทร์วิไร ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ได้รายงานผลการประชุมของแต่ละเครือข่าย เพื่อให้ที่ประชุมได้รับทราบ และร่วมกันเสนอแนะแนวคิดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน

 

สำหรับเครือข่ายแปลงใหญ่ มีการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานและโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ผลการดำเนินงานของแปลงใหญ่ มีการรับรองแปลงใหญ่ภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 10,693 แปลง เกษตรกร จำนวน 570,933 ราย และพื้นที่ 9,011,424 ไร่ ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 2) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการฯ จะประสานงานกับกลุ่มแปลงใหญ่ในพื้นที่ที่ดูแล ดำเนินการจัดส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ครบถ้วน และให้กลุ่มแปลงใหญ่ดำเนินการจดทะเบียนครอบครองทรัพย์สินที่ได้รับให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด 3) การพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลง ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงเป้าหมาย 768 ราย จำนวน 4 รุ่น ในเดือนกรกฎาคม 2567 4) การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรในกลุ่มแปลงใหญ่ คณะกรรมการฯ จะประสานงานสำรวจข้อมูลเครื่องจักรกลในพื้นที่ และแจ้งกรมส่งเสริมการเกษตรทราบ เพื่อนำมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ในส่วนของเครือข่าย ศพก. มีการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานและโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ผลการดำเนินงานของ ศพก. มีการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 882 อำเภอ มีจุดในการจัดงานทั้งหมด 520 จุด โดยแบ่งเป็น จัดงานใน ศพก. หลัก จำนวน 123 จุด (24 %) ศพก. เครือข่าย จำนวน 247 จุด (47%) และจัดงานในสถานที่อื่นๆ จำนวน 150 จุด (29%) เกษตรกรที่เข้าร่วม จำนวน 39,494 ราย 2) ผลการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ 3 เพิ่ม 3 สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพื่อให้เกษตรกรต่อยอดฟื้นฟูอาชีพระหว่างการพักชำระหนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยเป็นเวลา 3 ปี โครงการดังกล่าวเปิดโอกาส ให้ ศพก. ทั่วประเทศ นำเสนอความพร้อมให้กับหน่วยงาน ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการเป็นศูนย์ฝึกอบรม วิทยากรบรรยายให้ความรู้ และการใช้ทรัพยากรจาก ศพก. และจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ขีดความสามารถของ ศพก. ในการสนองนโยบายด้านการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และฝึกอาชีพให้ตรงและสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลและ ธ.ก.ส. ที่กำหนดไว้ 3) การวิเคราะห์ Pain Point การพัฒนาศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านต่างๆ โดยร่วมกันหาแนวทางในการขับเคลื่อน ศพก. ให้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีหลักสูตรที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของเกษตรกรที่มาเรียนรู้ มีเกษตรกรต้นแบบที่พร้อมในการถ่ายทอดมากยิ่งขึ้น 4) การประเมินศักยภาพ ศพก. ซึ่งพบว่า ควรมีการดำเนินงานอย่างรอบด้าน เพื่อจะช่วยให้สามารถวางแผนและพัฒนา ศพก.ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ และคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ จำนวน 24 คน เป็นคณะทำงานฯ มีหน้าที่ ประสาน วิเคราะห์ กลั่นกรองงาน เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีฯ และปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งที่ประชุมได้ประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานในฐานะคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ 1) ประสานการทำงานกับเครือข่ายภาคการเกษตรทุกพื้นที่ และแจ้งข่าวสารข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ โดยต้องเป็นไปในลักษณะ “รู้เร็ว-รู้ก่อน-รู้ลึก” เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 2) สนับสนุนการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ อาทิ การประชาสัมพันธ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ร่วมขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างภาคราชการ และเกษตรกร และสนับสนุนการทำงานของหน่วยราชการในระหว่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ และ 3) เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมภาคการเกษตร

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบจะดำเนินการขับเคลื่อนด้านการเกษตรที่เกี่ยวกับการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศใน 2 ประเด็นคือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ปรับเปลี่ยนเทคนิคหรือวิถีการผลิต ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำและระบบส่งจ่ายน้ำ บริหารจัดการที่ดินอย่างเหมาะสม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ  ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย 3 R การรณรงค์การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร การขยายผลงานวิจัยในการรณรงค์หยุดเผา และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก