จากปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม 2567 ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศปลายเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน 2567 จะมีฝนตกชุกมากขึ้น จากอิทธิพลของความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงเป็นระยะๆ และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรและพี่น้องเกษตรกร ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ ปัจจุบันตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ จำนวน 10 จังหวัด ประมาณ 211,394 ไร่ โดยประกาศเขตให้การช่วยเหลือ 1 จังหวัด คือ จังหวัดมหาสารคาม
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ห่วงใยเกษตรกรจึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรไว้ใช้เป็นแนวทางการติดตาม ป้องกันและลดผลกระทบของพื้นที่การเกษตรจากสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ และแนวทางการดำเนินการ 4 ด้าน ดังนี้ ระยะที่ 1) ก่อนเกิดภัย ได้แก่ ด้านการป้องกัน (Prevention) และด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation) ระยะที่ 2) ขณะเกิดภัย ได้แก่ ด้านการเผชิญเหตุ (Response) ระยะที่ 3) หลังเกิดภัย ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู (Recovery) โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ดำเนินการ 4 ด้าน ดังนี้
1) ติดตามสภาพอากาศรายวัน วิเคราะห์ ประเมินแนวโน้มจากชุดข้อมูลสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2567 ที่การปลูกข้าวใกล้เก็บเกี่ยว รวมถึงพืชไร่และพืชสวนอื่นๆ และแจ้งเกษตรกรเพื่อรับทราบข้อมูล ได้เข้าใจสถานการณ์ และเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
2) ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด กระตุ้นการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ และแนวโน้ม/ผลกระทบและแจ้งข้อมูลให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
3) สำรวจและสอบทานความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมในการใช้งานตลอดเวลา และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็วเหมาะสมกับสถานการณ์ และให้แจ้งสิทธิ์ สอบถามสิทธิ์ สำรวจ ประเมินผลกระทบเบื้องต้น ให้คำแนะนำเตรียมการฟื้นฟูพื้นที่ให้มีศักยภาพในการผลิตได้เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม
4) รายงานสถานการณ์เหตุด่วนฉุกเฉินต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ทันที
5) ปฏิบัติงานร่วมกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เพื่อทำข้อมูลประกอบการพิจารณาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และวางแผนสำรวจความเสียหายเพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) โดยเร็ว
สำหรับกรณีการเกิดภัยพิบัติ อุทกภัย ช่วงกันยายน – พฤศจิกายน 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เสร็จสิ้นไปแล้ว วงเงิน 1,936 ล้านบาท โดยจ่ายตรงเข้าบัญชีธนาคารของเกษตรกร จำนวน 152,940 ราย ทั้งนี้ กระบวนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติได้พัฒนาให้รวดเร็วมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพจำใหม่ให้เกษตรกรดีขึ้นกว่าเดิม
*************************
กองแผนงาน : ข้อมูล
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว