แปลงใหญ่ชะอมโพธิ์รังนก อ่างทอง แหล่งผลิตชะอมมาตรฐาน GAP ส่งขายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่การเกษตร 101,844 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ทำนาข้าว แต่ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่ง ที่เกษตรกรปลูกกันมาก ทั้งริมรั้วบ้านและหัวไร่ปลายนา นั่นคือชะอม มีจำนวนมากถึง 1,683 ไร่ เกษตรกร 643 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลโพธ์รังนก และถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยเสริมรายได้ระหว่างการรอเก็บเกี่ยวข้าวอีกทางหนึ่งด้วย

แต่ก่อนเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลงในปริมาณมากและใช้ไม่ถูกต้อง ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งมีการกำจัดเศษกิ่งชะอมด้วยการเผา จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทอง จึงเข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องการผลิตชะอมที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการปรับปรุงบำรุงดิน วิธีการปลูก การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เมื่อพบการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดการบอกต่อในกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง จนกระทั่งมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมผลิต ร่วมกันขายและแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทองเป็นที่ปรึกษา ต่อมาได้พัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกชะอมตำบลโพธิ์รังนก เป็นศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนในปี 2558 เพื่อให้เป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ไขปัญหาในเรื่องดิน พร้อมกับได้ประสานสถานีพัฒนาที่ดินอ่างทองเข้ามาสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการ การฝึกปฏิบัติและสนับสนุนปัจจัยการผลิต และได้มีการพัฒนากิจกรรมต่อยอดเป็นการผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูง เพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดินในแปลงชะอม

 

เมื่อเกษตรกรให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม และต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการผลิตและการตลาด ตลอดจนเล็งเห็นว่า ชะอมสามารถพัฒนาให้เป็นพืชที่สร้างอาชีพเสริมและลดความเสี่ยงด้านอาชีพการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทอง และสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง จึงเข้ามาส่งเสริมการผลิตชะอมให้ได้คุณภาพ โดยใช้วิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของเกษตรกรควบคู่กับข้อมูลทางวิชาการของกรมส่งเสริมการเกษตร  เมื่อเกษตรกรได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในแปลงชะอมและเห็นถึงความสำคัญในการรวมกลุ่ม จึงมีความต้องการพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด สำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทอง และสำนักงานเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาผู้ปลูกชะอมของตำบลโพธิ์รังนกให้เป็นแปลงใหญ่

 

กระทั่งในปี 2564 ตำบลโพธิ์รังนก อำเภอโพธิ์ทอง ได้มีการจัดตังแปลงใหญ่ชะอม มีสมาชิก 71 ราย พื้นที่ปลูก 180 ไร่ มีเป้าหมายคือลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิตและเพิ่มรายได้ ต่อมาในปี 2564 ได้เริ่มนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดไท ในโครงการผักร่วมใจ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและตลาดไท โดยทางตลาดไทได้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้า GAP พร้อมสนับสนุนการจัดทำ QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผลผลิตจากแปลงใหญ่ชะอมได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพและยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรโดยตรง

นายพยุง คุ้มสกุลณี ประธานแปลงใหญ่ชะอมตำบลโพธิ์รังนก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า การผลิตชะอมของตำบลโพธิ์รังนก เริ่มมีการผลิตในหมู่บ้านมานานกว่า 30 ปี โดยเป็นพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมที่มีลักษณะต้นสูงและเลื้อยขึ้นไปตามยอดไม้ เมื่อเริ่มปลูกเป็นการค้า จึงมีการพัฒนานำท่อนพันธุ์มาปลูกในแปลง ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มผลิตชะอมโพธิ์รังนกได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ เมื่อปี 2564 มีสมาชิก 71 ราย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มกันในการจำหน่ายผลผลิตชะอม ช่วยเหลือเงินทุนในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ปัจจุบันแปลงใหญ่ฯ มีเงินกองทุนเพื่อจัดซื้อสารเคมีและปุ๋ยมาจำหน่ายให้สมาชิก และมีการผลิตปุ๋ยใช้เองตามความต้องการของพืช เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาถูกกว่าท้องตลาดโดยทั่วไป โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ทองและสำนักงานเกษตรจังหวัดเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำ องค์ความรู้ในการผลิตชะอมคุณภาพและให้ผลผลิตสูง และการกระตุ้นให้ชะอมแตกยอดในฤดูหนาว เช่น การตัดแต่งกิ่งหรือรูดใบออก การให้อาหารบำรุงการออกยอด เป็นต้น ตลอดจนให้คำแนะนำการผลิตที่ได้มาตรฐาน GAP

 

สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตจำหน่าย ทางกลุ่มจะให้สมาชิกนำชะอมมาจำหน่ายให้แก่แปลงใหญ่บางส่วน บางส่วนจะขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง ซึ่งราคาที่แปลงใหญ่และพ่อค้าคนกลางรับซื้อจะไม่แตกต่างกัน สำหรับผลผลิตที่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ซึ่งจะกระจายไปยังตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดศรีเมือง (ราชบุรี) ตลาดท้องถิ่น และมีพ่อค้าคนกลางบางรายรับซื้อแล้วนำชะอมไปคัดเลือกและส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สำหรับผลผลิตที่ทางกลุ่มรับซื้อจากสมาชิก ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณชะอมทั้งหมดในตำบล  ทางกลุ่มจะทำการรวบรวมผลผลิตชะอมในช่วงบ่าย – เย็นของทุกวันและเก็บไว้ในรถห้องเย็น จากนั้นจะนำไปจำหน่ายที่ตลาดไท โดยออกเดินทาง ประมาณเวลา 01.00 น. ถึงตลาดไทไม่เกินเวลา 03.00 น. โดยแปลงใหญ่จะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปจำหน่ายได้ตลอดเวลา ซึ่งการจำหน่ายชะอมที่ตลาดไท จะต้องส่งชะอมไปทดสอบสารเคมีทุกวัน สามารถเก็บผลผลิตไปตรวจสอบได้ทุกกำ เพราะมั่นใจคุณภาพผลผลิตชะอมของสมาชิกว่าปลอดภัยจากสารพิษแน่นอน โดยการจำหน่ายชะอมของแปลงใหญ่ตำบลโพธิ์รังนกจะมีบาร์โค้ด (Bar Code) ของกลุ่มติดที่แพ็คของชะอมด้วย สำหรับราคาของชะอมจะผันผวนไปตามฤดูกาลและในแต่ละวัน เฉลี่ยสูงที่สุดจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ต่อมาก็ฤดูฝน และราคาเฉลี่ยต่ำสุดในช่วงฤดูร้อน จะขายได้ราคาค่อนข้างต่ำราคา 10-12 บาท/แพ็ค ในช่วงฤดูฝนราคาประมาณ 15 บาท/แพ็ค แต่จะขายได้ราคาสูงในช่วงฤดูหนาวประมาณ 25 บาท/แพ็ค

 

 “การรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบแปลงใหญ่ทำให้ราคาผลผลิตของชะอมในตำบลโพธิ์รังนกสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน พ่อค้าคนกลางไม่กล้ากดราคาเกษตรกร เนื่องจากกลุ่มแปลงใหญ่โพธิ์รังนกทราบราคาจำหน่ายผลผลิตชะอมที่จำหน่ายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อ ซึ่งเป็นตลาดเดียวกันกับที่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อชะอมของเกษตรกร จึงมิกล้ากดราคา ซึ่งในอนาคต กลุ่มมีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนแปลงที่ได้รับมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น รวมถึงจะพัฒนาการผลิตให้ต้นทุนการผลิตของสมาชิกให้ลดลงจาก 28,000 บาทต่อไร่ เหลือ 24,000 บาทต่อไร่ และที่สำคัญจะพัฒนาให้ชะอมเป็นพืช GI ภายในปี 2570 เนื่องจากชะอมของตำบลโพธิ์รังนกมีลักษณะเด่นคือ ยอดอวบ หนามแหลมคม ปลายยอดมีหนามนุ่มอ่อน กลิ่นฉุนและแรงกว่าชะอมทั่วไป รสชาติไม่ขมเฝื่อน” นายพยุง กล่าวทิ้งท้าย